๓.     ค่ากับคน
ความมีค่า ย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนโดยทั่วไป แต่ก็มักเป็นไปตามกำหนด ที่สมมติขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย ทั้งยังดำเนินไปตามความนิยมของคนแต่ละกลุ่มอีกสถานหนึ่ง จึงมีการประเมินค่าผิดแผกแตกต่างกัน บางกรณีก็ใช้เผ่าพรรณวรรณะเป็นเกณฑ์กำหนดความมีค่า และความไร้ค่า บางกรณีก็ใช้วัยวุฒิเป็นเกณฑ์ บางกรณีก็ใช้ความหวัง คือ สมหวังหรือผิดหวังเป็นเกณฑ์กำหนดความมีค่าและความไร้ค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีมาแต่โบราณ จะสาธกมาพอเป็นอุทาหรณ์ ดังต่อไปนี้.-
ในกรณีที่ว่าใช้เผ่าพรรณวรรณะเป็นเกณฑ์กำหนดความมีค่าและไร้ค่านั้น พึงเห็นได้ในประเทศที่มีการแบ่งชั้นวรรณะ เช่น ประเทศอินเดีย ได้แบ่งประชาชนเป็น ๔ ชั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร กษัตริย์และพราหมณ์ จัดเป็นวรรณะสูง เป็นประเภทมีค่า แพศย์เป็นชั้นกลาง ศูทรเป็นชั้นต่ำ มีค่าน้อย
ยังมีอีกวรรณะหนึ่งที่เรียกกันว่า จัณฑาล เป็นวรรณะที่ไร้ค่า ถูกเหยียดหยาม ถูกกดขี่ข่มเหง ด้วยประการต่าง ๆ เพราะถือว่าเป็นพวกไม่มีค่า ในบางยุคบางสมัย มีกฎบังคับพวกจัณฑาล จะเดินไปทางไหนต้องมีระฆังใบเล็ก ๆ พร้อมทั้งไม้ตีติดมือไป และเดินไปพลางเคาะไปพลาง เพื่อให้วรรณะที่มีค่าทั้งหลายได้ทราบว่าจัณฑาลกำลังสวนทางมา พวกเหล่านั้นจะได้พากันหลบไปเสียจากทางนั้น เพราะการพบเห็นจัณฑาลถือว่าเป็นอัปมงคลแก่ดวงตาเป็นยิ่งที่ยิ่งนัก โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์ เห็นจัณฑาลแล้วต้องจากที่ตรงนั้นทันที ต้องจัดการเอาน้ำมันมาล้างตา เพื่อให้อัปมงคลหมดไปจากดวงตา และถ้าจัณฑาลที่ปรากฏตนให้พวกพราหมณ์พบเห็นนั้น ไม่เคาะระฆังเป็นสัญญาณอาจถูกบริวารของพราหมณ์ประชาทัณฑ์ถึงตายก็ได้ ตายแล้วก็แล้วไป อนาถมากทีเดียว
การประเมินค่าตนสูงในกรณีนี้นั้น ที่เป็นเรื่องสำคัญน่าศึกษา มีอยู่เรื่องหนึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีชื่อเรียกว่า อัมพัฏฐสูตร จะขอเก็บความมาบันทึกไว้ตามประสงค์ ต่อไปนี้.-
สมัยหนึ่งพระผู้ทรงพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในหมู่ชนชาวโกศล จนถึงนครกุกกัฏฐะ  ประทับแรมที่นิคมอิจฉานังคัล โปกขรสาติพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ปกครองนครนั้นทราบข่าวว่าเสด็จประทับแรมในเขตแดนของตน ต้องการจะทราบว่าพระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงหรือไฉน ใช้ให้มาณพอัมพัฏฐะศิษย์เอกของตนไปเฝ้า เพื่อพิจารณาพระมหาปุริสลักษณะ และสังเกตเรื่องอื่น ๆ ที่จะยืนยันว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้จริง

อัมพัฏฐะพาเพื่อนศิษย์ไปเป็นจำนวนมาก ได้ไปเฝ้า ณ ที่ประทับ เมื่อได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ถึงที่ประทับแล้วอัมพัฏฐะได้แสดงกิริยาผยอง มิได้มีความเคารพในพระองค์เลย เช่น พระพุทธองค์ประทับนั่งอัมพัฏฐะยืนพูดกับพระองค์บ้าง เดินเตร่ไปเตร่มาพูดกับพระองค์บ้าง บางทีก็ยกมือ บางทีก็

ยักคิ้ว พูดกับพระองค์ ถ้อยคำที่ทูลเล่าก็เป็นถ้อยคำที่เหน็บแนม ดูหมิ่น ดูแคลนต่าง ๆ เช่นว่า “พระสมณโคดม พระองค์คงไม่ลำบากด้วยเรื่องภิกษาหาร เพราะอาการเช่นนั้นของพระองค์ก็ปรากฏอยู่ พระวรกายอ้วนพีผ่องใส” เป็นต้น   พระพุทธองค์ได้ตรัสถามเขาว่า
“อัมพัฏฐะ อาจารย์และปรมาจารย์ของเธออบรมเธออย่างที่กำลังกระทำอยู่นี้หรือ”
เขาทูลตอบตามความกระด้างด้วยมานะ ใจความว่า
“อาจารย์มิได้สอนให้กระทำอย่างนี้ แต่สอนว่า อาจารย์ยืน ศิษย์ยืน อาจารย์เดิน ศิษย์เดิน อาจารย์นั่ง ศิษย์นั่ง”
เรื่องกิริยาแสดงคารวะต่ออาจารย์ของศิษย์ในเวลาสนทนากัน ก็เพียง ๓ อิริยาบถเท่านั้น แต่อัมพัฏฐะได้แถมท้ายอิริยาบถนอนเข้าไปอีกว่า    “อาจารย์นอนศิษย์ก็นอน”
ข้อนี้พระอรรถถาจารย์ได้เสริมว่า พระผู้ทรงพระภาคเจ้าตรัสกะอัมพัฏฐะว่า
“สามอิริยาบถย่อมให้ได้ในอาจารย์ทั้งปวง แต่เธอนอนพูดกับอาจารย์ผู้นอน อาจารย์ของเธอคงจะเป็นโคหรือไม่ก็เป็นฬา”      อัมพัฏฐะโกรธมาก ทูลด้วยความโกรธว่า
“พวกสมณะล้วนเป็นพวกชาวบ้าน เป็นพวกดำ เกิดจากเท้าของพรหม ข้าพเจ้าจะพูดด้วยอาการอย่างไรก็ได้ เหมือนกับที่พูดกับพระโคดมนี้”
พระพุทธองค์ทรงเตือนให้เขานึกถึงประโยชน์ในการมาพบกับพระองค์ ให้เขาใส่ใจในประโยชน์ที่ต้องการไว้อย่างดี แล้วตรัสว่า
“อัมพัฏฐะมาณพยังไม่ได้รับอบรมเลย แต่สำคัญตนว่าได้รับอบรมแล้ว”
อัมพัฏฐะโกรธหัวหัวเหวี่ยงทีเดียว ได้พูดดูหมิ่นพระองค์ถึงพระวงศ์ว่า
“พระโคดม ศากยะชาติดุร้าย หยาบคาย หุนหัน วู่วาม ทั้ง ๆ ที่เป็นพวกชาวบ้าน ไม่แสดงความเคารพนับถือพราหมณ์ ไม่นอบน้อมต่อพราหมณ์”
ความหมายของถ้อยคำของอัมพัฏฐะนี้ เป็นการประเมินค่าของตนในฐานะว่าเป็นพราหมณ์ ว่าสูงกว่าศากยวงศ์ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถึงเหตุ เขาก็ทูลเล่าถึงตนเองถูกอาจารย์ใช้ให้ไปพบกับศากยะที่กรุงกบิลพัสดุ์ไม่ได้รับความเคารพนับถือเลย แล้วลงท้ายก็ว่า    “ศากยชาติเป็นชนชั้นชาวบ้าน”   ย้ำอีก
ในที่สุดพระพุทธองค์ทรงถามถึงโคตรของอัมพัฏฐะ เมื่อเขากราบทูลว่า
“กัณหายนโคตร เป็นโคตรของเขา”
ก็ได้ตรัสซักต่อไปถึงบรรพบุรุษทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา เขาต้องยอมว่า ต้นวงศ์ของตนคือกัญหฤาษี เป็นลูกนางทาสของพวกศากยะ นั่นแหละเขาถึงได้เซาลง และตั้งใจที่จะถือประโยชน์ในการมาของตน

ข้อความในเรื่องอัมพัฏฐะมาณพยังมีต่อไปอีกมาก เก็บความพอเป็นอุทาหรณ์ของการประเมินค่าด้วยถือชาติวรรณะเป็นเกณฑ์เพียงเท่านี้ ความพิสดารปรากฏในอัมพัฏฐสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ท่านผู้ต้องการพึงดูในที่นั้น
ข้อที่ว่าประเมินค่าโดยใช้วัยวุฒิเป็นเกณฑ์ ก็ปรากฏในพระวินัยปิฎก เวรัญชกัณฑ์ มีความสังเขปว่า
“เวรัญชพราหมณ์ผู้เฒ่า เข้าไปเฝ้าพระผู้ทรงพระภาคเจ้าไม่ได้รับการต้อนรับจากพระองค์ เหมือนกับที่ตนเคยได้ ก็เกิดประเมินค่าของตนสูงกว่าพระพุทธองค์ ได้ทูลพ้อด้วยถ้อยคำอันรุนแรงเช่นว่า
“พระสมณะโคดมไม่เป็นรส”
เป็นต้น นี้ก็เป็นเรื่องที่ประเมินค่าของตนสูง ด้วยใช้วัยวุฒิเป็นเกณฑ์ หรือเรื่องนิครนถ์ชื่อสัจจกะ ถือตนว่ามีความรู้มากกว่าใคร ๆ ในชมพูทวีป ต้องใช้เหล็กพืดคาดพุงไว้ จะว่าใช้เข็มขัดเหล็กคาดพุงไว้ก็ได้ ทั้งนี้เพราะเกรงว่าความรู้ที่มีอยู่ในตนจะทะลักออกมาทางพุง ทำให้พุงแตกเป็นอันตรายแก่ชีวิต นี้ก็เป็นเรื่องประเมินค่าของตนด้วยใช้ความรู้เป็นเกณฑ์
การใช้เกณฑ์กำหนดประเมินค่าดังที่กล่าวมานั้น ยังคงมีปรากฏอยู่แม้ในปัจจุบัน และก็จักมีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้เพราะความนิยมในเรื่องค่าของคนนั้น ยังคงมีอยู่ และก็จักมีต่อไป คนยังต้องการค่า ความเป็นคนมีค่าเป็นที่นิยมของสังคม ดังนั้นจึงมีเกณฑ์พิจารณา ในการประเมินค่าด้วยประการต่าง ๆ สุดแต่ว่าใครจะมีอะไรอยู่ ความมั่งคั่ง ความมีชาติตระกูล ความมีวัยสูง ความมีความรู้สูง รวมความว่า ทรัพย์ ยศ วัย และวิชา นิยมใช้เป็นเกณฑ์ประเมินค่าของผู้ที่มีมานะความเย่อหยิ่งทระนง
ยังมีค่าอีกประการหนึ่ง เป็นค่าที่ผู้อื่นประเมินให้ น่าจะตรงกับที่เรียกว่า    “ค่าตัว
เป็นการประเมินให้กับคนที่เห็นว่ามีค่า แต่ค่าตัวที่ว่านี้ บางทีก็ได้แก่ตัว บางทีก็ไม่ได้แก่ตัว เช่น การประเมินค่าให้แก่บุคคลผู้เก่งกล้าสามารถในทางใดในทางหนึ่ง มีผู้ต้องการที่จะนำบุคคลเช่นนั้น ไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้ให้ราคาค่าตัวเป็นเงินทอง ค่านี้ก็ได้แก่ตัว แต่ถ้าเป็นค่าตัวอีกอย่างหนึ่ง ที่ผู้อื่นประเมินให้ไว้ เพื่อให้แก่คนที่จับคนนั้นคนนี้ ซึ่งมีคดีติดตัว เรียกกันว่าสินบน ตั้งไว้เพื่อเป็นสินน้ำใจเร่งเร้าให้เกิดความพยายามที่จะดำเนินการตามความมุ่งหมายของผู้ให้ค่า ค่าเช่นนี้ผู้มีค่าตัวมิได้รับเป็นของตน

ค่าต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ มิอาจจะถือเป็นยุติได้ว่าเป็นของคนเพราะเป็นการประเมินด้วยหลักเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมเลยใช้มานะความเย่อหยิ่งเป็นมูลแล้วก็ประมูลตนเอง ที่ผู้อื่นประเมินให้เล่า บางทีก็ใช้ความชั่วร้ายของคนที่ตนให้ค่าเป็นเกณฑ์ประมูล เช่นการให้สินบนจับผู้ร้าย จึงอยู่ในเกณฑ์ ที่ว่าไม่เป็นธรรม ส่วนค่าของคนที่ควรจะกล่าวได้ว่าเป็นธรรม ก็คือ ค่าที่ปรากฏตามประเภทของค่าทั้ง ๓ ดังได้กล่าวแล้ว ฉะนั้นค่าของคน ที่จะบรรยายต่อไปนี้ กำหนดตามประเภทของค่า คือ.-
1  มูลค่าของคน  
     2 บัญญัติค่าของคน
 3  คุณค่าของคน
Free Web Hosting