ประวัติย่อหลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี

พระอาจารย์เทสก์
(สมัยยังหนุ่ม)
นามเดิม เทสก์ เรี่ยวแรง
บิดา อุสาห์ เรี่ยวแรง
มารดา ครั่ง เรี่ยวแรง
เกิด วันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๔๕ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ณ บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรคนที่ ๙ ในจำนวน ๑๐ คน
บรรพชาและอุปสมบท ในพ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ออกจากบ้านติดตามพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์คำ เดินทางไปยังบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ แล้วได้ไปบรรพชาเป็นสามเณรกับพระอุปัชฌาย์ลุย ที่บ้านเค็งใหญ่ เมื่ออายุย่าง ๒๒ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันพุธที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ เวลา ๑๑.๔๘ น. โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปญฺญาพโลเป็นพระกรรมวาจาจารย์
การจาริกเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ
- พ.ศ. ๒๔๖๖ เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ฯ และพระมหาปิ่นฯ ออกธุดงค์จากวัดสุทัศน์เป็นครั้งแรก เดินทางบุกป่ามาจนถึงจังหวัดอุดรธานี และได้เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่นและพระอาจารย์เสาร์เป็นครั้งแรกที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ ต่อจากนั้นก็ได้จาริกไปจังหวัดต่างๆ
- พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูนิโรธรังสี
- พ.ศ. ๒๕๐๗ เดินทางกลับจากจังหวัดภูเก็ต มาอยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำขามกับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร
- พ.ศ. ๒๕๐๘ เดินทางไปพักวิเวกอยู่ที่วัดหินหมากเป้ง
สมณศักดิ์
- ๕ ธันวาคม ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญฝ่ายวิปัสสนาที่พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์
- ๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย
- ๕ ธันวาคม ๒๕๓๓ ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษย์ ยติคณิสสรบวรสังฆาราม อรัณยวาสี
มรณภาพ ที่วัดถ้ำมะขาม จังหวัดสกลนคร เมื่อ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗
เวลา ๒๑.๐๐ น. สิริอายุได้ ๙๒ ปี ๗ เดือน ๒๑ วัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
กราบนมัสการหลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี

โอวาทแนวทางการปฎิบัติธรรมของ หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
1. ธรรม คือ ของจริงของแท้ เป็นแก่นของโลก ธรรม แปลว่า ของเป็นอยู่ทรงอยู่สภาพตามเป็นจริง เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ธรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นธรรมทั้งนั้น เรียก ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มรณธรรม ทำไมจึงเรียกว่า ธรรม คือทุกๆ คน จะต้องเป็นเหมือนกันหมด(ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมะ)

2. สมบัติที่มนุษย์ต้องการ ไม่ทราบว่าจะกอบโกยเอาไปถึงไหน ได้มาก็เพียงแต่เอาเลี้ยงชีวิตเท่านั้น เลี้ยงชีวิตให้นานตายหน่อย นั่นละ ประโยชน์ของมนุษย์สมบัติเพียงแค่นั้นแหละ

3. เราเกิดมาในโลกนี้ จะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ตามเถอะ เรียกว่าอยู่ในแวดวงของมัจจุราชทั้งนั้น หรือเปรียบเสมือนกับอยู่ในคุกในตะราง (รอความตาย) ด้วยกันทุกคน จะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะเป็นผู้ดีวิเศษวิโสเท่าไรก็ช่าง แม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สรีระร่างกายของพระองค์ยังปล่อยให้พญามัจจุราชทำลายได้ แต่ตัวจิตของพระองค์เป็นผู้พ้นแล้ว ไม่ยอมให้มัจจุราชข่มขี่ได้เลย (ธรรมเทศนาเรื่อง มัจจุราช)

4. ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันก็ต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง (อัตตโนประวัติฯ)

5. มนุษย์เราพากันสมมติ เรียกเอาตามความชอบใจของตนว่านั่นเป็นคน นั่นเป็นสัตว์เป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ นานาไป แต่ก้อนธาตุนั้นมันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของคนไม่ มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม สมมติว่า หญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าแก่ ว่าสวย ไม่สวย ก้อนธาตุอันนั้นก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย หน้าที่ของมันเมื่อมาประชุมกันเข้าเป็นก้อนแล้ว อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วมันก็แปรไปตามสภาพของมัน ผลที่สุดมันก็แตกสลายแยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง (ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์)

6. เมื่อเรามาฝึกหัดปฏิบัติธรรมจนเห็น เรื่องโทษของตนเองแล้ว ค่อยชำระสะสางให้มันหมดไปๆ ก็จะเป็นคุณแก่ตนในอนาคตข้างหน้า ได้ชื่อว่าไม่เสียชาติเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ แล้วยังมาพบพระพุทธศาสนา และยังมาพบครูบาอาจารย์ที่สอนให ้เราละกิเลสอีกด้วย (ธรรมเทศนาเรื่องแก่นของการปฏิบัติ)

7. แท้ที่จริงธรรมะคือตัวของเรานี้ทุกคนก็มีแล้วครบมูลบริบูรณ์ทุกอย่าง แต่เราไม่ได้สร้างสมอบรมให้เห็นธรรมะที่มันมีในต้นของตน ธรรมะแทรกอยู่ในขันธโลกอันนี้ หากใช้อุบายปัญญาพิจารณากลั่นกรองด้วยวิธี 3 อย่าง มีศีล สมาธิ ปัญญา ดังอธิบายแล้วธรรมะจะปรากฏในตัวของตนๆ (ธรรมเทศนาเรื่องวิจัยธรรมออกจากโลก)

8. การศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้องแล้ว ต้องให้มีทั้งปริยัติคือ การศึกษาและปฏิบัติตามความรู้ที่ได้ศึกษามานั้นให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการปฏิบัติ ถ้าไม่ยืนตัวอยู่ในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว จะไม่มีการถูกต้องอันจะให้เกิดความรู้ในสัจธรรมได้เลย มรรคปฏิปทาอันจะให้ถึงสัจธรรมนั้น ก็ต้องรวมศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วปฏิเวธธรรมจึงจะเกิดขึ้นได้ (ธรรมเทศนา เรี่อง พุทธบริษัทพึงปฏิบัติตนเช่นไร)

9. คนที่จะข้ามโอฆะได้ต้องมีศรัทธาเสียก่อน ถ้าไม่มีศรัทธาเสียอย่างเดียวก็หมดทางที่จะข้ามโอฆะได้ ศรัทธาจึงเป็นของสำคัญที่สุด เช่น เชื่อมั่นในกรรม เชื่อผลของกรรม ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่าศรัทธาอันนั้น เป็นเบื้องต้นที่จะทำทาน ถ้ามีศรัทธาแล้วไม่อดเรื่องการทำทาน อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ทำมากก็ได้ ทำน้อยก็ได้ ไม่ต้องเลือก วัตถุในการทำงาน จะเป็นข้าว น้ำ อาหาร หมากพลู บุหรี่ ฯลฯ สารพัดสิ่งเป็นทาน ได้ทั้งหมด แม้แต่ใบไม้ ใบตอง ใบหญ้า ก็เป็นทานได้เราทำด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้ทำไปแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นๆ ก็อิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาเป็นบุญ นั่นแหละ ศรัทธา มันทำให้อิ่มอกอิ่มใจ ทำให้เกิดบุญซาบซึ้งถึงใจทุกอย่างไม่ลืมเลย อันนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ข้ามโอฆะ (ธรรมเทศนา เรื่องหลักการปฏิบัติธรรม)

10. กายและจิตอันนี้เป็นบุญกรรมและกิเลสนำมาตกแต่งให้ เมื่อนำมาใช้โดยหาสาระมิได้ถึงแม้จะมีอายุยืนนาน ก็ปานประหนึ่งว่าหาอายุมิได้ (คือไม่มีประโยชน์) สมกับพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสว่า โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยุโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ แปลว่า บุคคลใดมีชีวิตอยู่ร้อยปี แต่เขามิได้พิจารณาเห็นความเกิดดับ (ของอัตภาพนี้) ผู้นั้นสู้ผู้เขามีชีวิตอยู่วันเดียว แต่พิจารณาเห็นความเกิดความดับไม่ได้ (ธรรมเทศนาเรื่องวันคืนล่วงไปๆ)