จะเลือกเคารพพระแบบใด?

                เนื่องด้วยข้าพเจ้าเป็นคนแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ หากได้สนใจในเรื่องใดขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องทุ่มเทกับสิ่งนั้นอย่างที่สุด จะไม่ยอมปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ จนกว่าจะบรรลุถึงจุด ๆ หนึ่งที่ตนพอใจแล้วเท่านั้นจึงจะยอมราได้

                นี่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อข้าพเจ้าเกิดความสนใจในพระพุทธศาสนาขึ้นมาและประสบโชคดีให้พบท่านผู้รู้เช่นหลวงพ่อด้วยแล้ว ข้าพเจ้าก็ยิ่งปลื้มปิติและตั้งปณิธานเอาไว้ว่าข้าพเจ้าจะทุ่มเทตัวเพื่อค้นคว้าหาความกระจ่างในพระพุทธสาสนาให้ได้ ดังนั้นในทุกครั้งที่ข้าพเจ้าถามปัญหา และหลวงพ่ออธิบายอบ ข้าพเจ้าจะไม่ยอมจบสิ้นเลิกราเอาง่ายๆ เหมือนเช่นผู้อื่น หากแต่เมื่อจากหลวงพ่อกลับถึงบ้านแล้วข้าพเจ้าจะนั่งพิจารณาทบทวนและขบคิดถึงปัญหาและคำตอบของหลวงพ่ออย่างละเอียด และรอบคอบ ด้วยเหตุและด้วยผลเสมอมาทุกครั้งด้วยเหตุนี้เองแม้ข้าพเจ้าจะเข้าใจในคำอธิบายได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังไม่กระจ่างชัดไปเสียทั้งหมดทีเดียว มิหนำซ้ำกลับดูเหมือนว่าความเคลือบแคลงสงสัยอยากที่จะรับรู้ รับฟัง ยังมีอีกมากมาย

                โดยเฉพาะในเรื่องของพระสงฆ์นั้น ข้าพเจ้าเคยได้ยินผู้คนเขาพูดวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายเหลือเกิน อาทิเช่นบางคนพูดว่า “พระที่ฉันเคารพกราบไหว้นั้น จะต้องเป็นพระที่เคร่งในวินัย ต้องรู้จักสำรวมในการพูดมิใช่พูดไปหัวเราะไป หรือพูดกระเช้าเย้าแหย่ลูกศิษย์ลูกหา” บางคนก็พูดว่า “พระที่ฉันเคารพกราบไหว้ทุกวันนี้ ท่านนอนกระดานแผ่นเดียวเชียวนะ มิหนำซ้ำฉันเพียงมื้อเดียวด้วย”

                บางคนพูดว่า “พระของฉันน่ะฉันอาหารรวมในบาตรเดียว และมื้อเดียวด้วย และไม่ยอมจับเงินเสียด้วย”

                บางคนก็พูดว่า “พระองค์ที่ฉันเคารพกราบไหว้อยู่ทุกวันนี้ ท่านให้หวยแม่นที่สุดเลย รถเก๋งจอดกันแน่นที่วัดทุกวันทีเดียวนะ” เป็นต้น

                ด้วยเหตุนี้ ในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ถือโอกาสถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อครับ โดยทั่วๆ ไปแล้วเราควรจะเคารพกาบไหว้พระที่เคร่งในวินัยและสำรวมในการพูด มากกว่าพระที่ไม่สำรวมใช่ไหมครับ?”

                “เออ ถามดี ตอนนี้คุณกำลังเรียนอยู่โรงเรียนผู้บังคับฝูงใช่ไหม?” หลวงพ่อย้อนถาม

                “ครับ” ข้าพเจ้าตอบ ชักลังเล

            “นักเรียนในโรงเรียนผู้บังคับฝูงรุ่นของคุณนั้น มีกี่คน” หลวงพ่อถามต่อ

                “ประมาณ 160 คนครับ” ข้าพเจ้าตอบไปชักงงหนัก

                “ทั้ง 160 คน จบจากโรงเรียนนายทหารหลักอย่างคุณทั้งหมดใช่ไหม?” หลวงพ่อถามต่อ

                “ไม่หรอกครับ ปะปนกันมีทั้งจบจากโรงเรียนนายร้อย จปร.,นายเรือ,นายเรืออากาศก็มี จบจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทยก็มี เมืองนอกก็มีและเลื่อนยศขึ้นมาจากนายทหารชั้นประทวนก็มีครับ รวมความว่ามีทั้งไม่ได้ปริญญาก็มี ได้อนุปริญญาก็มี ปริญญาตรีก็มี ปริญญาโทก็มีและปริญญาเอกก็มีครับ “ข้าพเจ้าตอบอย่างละเอียด ไม่ทราบว่าหลวงพ่อจะมาในรูปใดอีก

                “อ้อ แล้วนักเรียนจำพวกไหนที่ขยันที่สุด คร่ำเคร่งในการดูตำรับตำรามากที่สุดล่ะ” หลวงพ่อถามไปเรื่อยๆ ทำให้ข้าพเจ้าต้องนั่งใคร่ครวญอยู่นานพอสมควร จึงตอบไปตามที่รู้ที่เห็นว่า

                “พวกที่คร่ำเคร่งตำรับตำรา และตั้งอกตั้งใจฟังครูสอนมากที่ก็สุดคือ พวกที่เขาเลื่อนขึ้นมาจากนายทหารชั้นประทวนครับ เพราะเขาไม่ค่อยเข้าใจและฟังครูไม่ค่อยทัน”

                “แล้วพวกคุณ ที่จบจากโรงเรียนนายทหารหลักล่ะ” หลวงพ่อถามต่อ

                “ผมก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง แล้วแต่ว่าวิชาใดจะน่าสนใจหรือไม่ แต่ความจริงแล้วครูก็ว่าไปตามตำรา ไม่ต้องฟังอ่านเอาเอง เที่ยวเดียวก็จำได้ครับ”ข้าพเจ้าตอบไปตามความเป็นจริง

                “เออ นั่นแหล่ะพระที่ท่านเคร่งนั้นเป็นเพราะท่านเพิ่งจะเริ่มฝึกปฏิบัติยังไม่มีปัญญาพอ เกรงไปว่า หากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปสัมผัสอะไรเข้าแล้วมาบอกจิตที่ยังขาดปัญญา ก็จะเกิดความโลภ โกรธ หลง คือ กิเลส หรือความทะยานอยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็นคือ ตัณหา หรือเกิดอุปทาน ความหลงเอาว่าไอ้นั่นเป็นของเรา ไอ้นี่เป็นของเรา เข้าได้ ท่านจึงต้องปิดตาของผู้คน เท่านั้นเอง เหมือนนายทหารชั้นประทวนที่เลื่อนชั้นยศขึ้นมาตามที่คุณเล่านั่นแหล่ะ ส่วนพระที่ท่านเป็นพระอริยเจ้าบรรลุมรรคผล มีปัญญาแล้ว ท่านมีสติของท่านอยู่ตลอดเวลาท่านก็ทำตัวสบาย ๆ ไม่จำเป็นต้องระวังอะไรมากนัก ดังเช่นพระสารีบุตรท่านก็เล่นกับเด็กนะเหมือนพวกคุณ ก็ไม่ทันเห็นต้องเรียนต้องฟังอะไรจากครูมากมายนั่นแหล่ะ ดังนั้นจึงจะเปรียบด่วนเอาว่าพระเคร่งพระสำรวมเหนือกว่าพระที่ไม่สำรวมยังไม่ได้นะ” หลวงพ่อตอบอย่างเมตตา
“แล้วพระที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันอาหารมื้อเดียว หรือฉันอาหารรวมในบาตรเดียวล่ะครับ จะถือว่า เหนือกว่าพระที่ฉันอาหาร 2 มื้อไหมครับ?”ข้าพเจ้าถามต่อด้วยความอยากรู้

                “พระพุทธเจ้า ท่านห้ามมิให้พระสงฆ์สาวกของท่านฉันเนื้อเพียงเฉพาะบางประเภทเช่นเนื้อมนุษย์ เนื้อสุนัข เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อเสือ มิได้พาดพิงถึงเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อปลา ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวโลกนะ อีกทั้งทรงย้ำว่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าองค์นั้นจะต้องกระทำตนให้เป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย อย่าให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อน ส่วนการที่จะฉันมื้อเดียวก็ดี หรือฉันอาหารรวมในบาตรเดียวก็ดี หรือฉันอาหารสองมื้อก็ดี พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงเป็นผู้กำหนดไว้เป็นเรื่องของเกจิอาจารย์แต่ละท่านไปวางกำหนดกำเกณฑ์เอาเองทั้งสิ้นจะเอาเรื่องการฉันเนื้อไม่ฉันเนื้อก็ดี การฉันมื้อเดียวหรือฉันสองมื้อก็ดีหรือการฉันรวมในบาตรเดียว ทั้งของหวานของคาวมาคลุกเคล้ากันก็ดี มาเป็นเครื่องวัดว่าพระภิกษุรูปใดเหนือกว่าพระภิกษุรูปใดยังไม่ได้นะ มันอยู่ที่ว่าท่านเหล่านั้นในขณะที่เสพอาหาร มีสติพิจารณา “อาหารเรปฏิกูลสัญญา” หรือไม่ต่างหาก หลงวงพ่ออธิบาย

                “อาหาเรปฏิกูลสัญญา นั้นพิจารณาอะไรครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามอย่างสนใจ

                “พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็คือพิจารณาอาหารที่ขบฉันให้เห็นว่าเป็นของน่าเกลียด อาหารใดก็ตามแม้นลิ้นสัมผัสแล้วจะเลิศรสเพียงไร หากขบเคี้ยวแล้วคายออกมาดูจะเห็นว่าน่ารังเกียจ ยิ่งเมื่อกลืนเข้าไปในท้องแล้วสำรอกออกมาดูจะเห็นได้ว่าน่าเกลียดมาก และยิ่งปากปล่อยทิ้งไว้ถ่ายออกมาดูก็ยิ่งน่าเกลียดที่สุดใช่ไหม ดังนั้นพระภิกษุสงฆ์รูปใดฉันมังสวิรัติ (ไม่ฉันเนื้อสัตว์) ก็ดีหรือฉันอาหารคาวหวานคลุกเคล้ารวมในบาตรเดียวกันก็ดีหรือฉันอาหารมื้อเดียวก็ดี หากมิได้พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญาแล้ว เกิดไปติดในรสชาติของอาหารมังสวิรัติก็ดีอาหารคาวหวานที่คลุกรวมในบาตรก็ดี หรืออาหารเพียงมื้อเดียวที่ขบฉันก็ดี ย่อมสู้พระภิกษุสงฆ์ที่ฉันอาหาร 2 มื้อ แต่พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญาทั้ง 2 มื้อไม่ได้นะ” หลวงพ่ออธิบายเรื่องๆแล้วพูดต่อว่า

                “อาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น นอกจากจะให้พิจารณาว่าอาหารที่ขบฉันเป็นของน่าเกลียดแล้ว จะต้องพิจารณาต่อไปอีกด้วยว่าบรรดาอาหารเหล่านี้จะมีรสเลิศหรือไม่ก็ดี จะถูกหรือแพงก็ดี จะเป็นมังสวิรัติก็ดีจะเป็นเนื้อสัตว์ก็ดี จะเป็นอาหารคาวหวานรวมในบาตรเดียวก็ดีเรากินเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้คงอัตภาพ อยู่ได้เพียงชั่วคราว เพื่อจะได้บำเพ็ญความเพียรไปสู่มรรคผลนิพพานได้เท่านั้นเองนะ สรุปได้ว่าภิกษุท่านใดอยากฉัน 2 มื้อก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวเของแต่ละท่าน แต่อย่าได้นำวิธีการขบฉันของตนไปข่มหรือปรามาสภิกษุสงฆ์องค์อื่นเป็นอันขาดนะนรกเล่นงานแน่ เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็มิได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้นะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด
“แล้วพระที่ท่านนอนกระดานแผ่นเดียวล่ะครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามเพราะเคยได้ยินมา

                “ก็ถ้าท่านคิดว่าท่านนอนบนกระดานแผ่นเดียว จะสามารถปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานได้ก็เป็นเรื่องของท่านนะ”หลวงพ่อตอบขำๆ และพูดต่อว่า “แต่ถ้านอนกระดานแผ่นเดียว ด้วยเจตนาหวังให้ศิษยานุศิษย์ยกย่องสรรเสริญ อีกทั้งยกตกข่มพระภิกษุสงฆ์รูปอื่นว่าสู้ตนไม่ได้ละก็ลงนรกนะ เข้าใจยังล่ะ ๆ”

                “เข้าใจครับ คราวนี้ที่เขาว่ากันว่า พระธรรมยุตเคร่งกว่าพระมหานิกายมาก โดยเฉพาะท่านไม่ยอมแม้แต่จับเงินด้วยซ้ำไปล่ะครับ”ข้าพเจ้ารีบฉวยโอกาสถามต่อ

                “ทั้งพระธรรมยุต และพระมหานิกายนั้นก็ล้วนถูกจัดเข้าเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ถ้าปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ และเพียรพยายามปฏับัติเพื่อไปสู่มรรคผลนิพพานนะ เรื่องความเคร่งหรือไม่เคร่งนั้น ฉันได้อธิบายไปแล้วว่าอย่าเอามาเป็นเครื่องวัดพระ เป็นอันขาดจะเกิดผิดพลาดได้ส่วนเรื่องที่จับเงินเองหรือไม่จับเงินเอง แต่ให้คนอื่นจับแทนนั้นก็จะเอามาเป็นเครื่องวัดไม่ได้ว่าใครเหนือกว่าใครนะ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่ที่ว่าถ้าพระที่ไม่ได้จับเงินเอง แต่ให้ผู้อื่นจับแทนแล้วไปสั่งให้เขานำเงินไปใช้ผิดความประสงค์ของผู้บริจาคแล้ว นรกเล่นงานแน่ สู้พระที่ท่านจับเงินเอง หากมิได้มีจิตโลภในทรัพย์สินเงินทอง และนำเงินที่ได้รับบริจาคไปสร้างไปทำตามความประสงค์ของผู้บริจาค ไม่ได้นะ”หลวงพ่ออธิบาย และเมื่อยังเห็นข้าพเจ้าอยู่ก็พูดต่อว่า “พระธรรมยุตนั้นท่านจะปฏิบัติตนของท่านเช่นไร ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ถ้าเมื่อใดท่านหลงผิดว่าท่านเหนือกว่าพระมหานิกายเมื่อใดแล้ว ท่านจะไม่มีวันบรรลุมรรคนิพพานหลุดพ้นจากวัฏฏะได้เลยนะเพราะท่านยังติดในสังโยชน์ 10 คือมานะ ซึ่งหมายความว่ามีอารมณ์ถือตัวถือตน ถือชั้นวรรณะเกินพอดี นั่นแหล่ะ ดังนั้นฉันจึงขอย้ำตามที่เคยตอบไปแล้วว่าพระที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้นั้น จะต้องเป็นพระที่มีความประพฤติประกอบความเพียรเพื่อหวังบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยการละสังโยชน์ 10 ไปทีละข้อ จนเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุดนั่นเอง เข้าใจหรือยัง?” หลวงพ่อย้ำ

                “เข้าใจแล้วครับ” ข้าพเจ้าตอบ คิดๆ จะถามเรื่องพระให้หวยอยู่เหมือนกัน แต่คำตอบของหลวงพ่อเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่แท้จริงนั้นได้ระบุอย่างชัดเจนแล้ว จนสามารถตอบเอาเองได้ว่า “พระที่ให้หวยนั้นยังฝักใฝ่อยู่ในโลกียะ มิใช่โลกุตระ และยังมิได้ประพฤติปฏิบัติตนตรงตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อไปสู่มรรคผลนิพพานอย่างจริงจัง จึงมิควรแกการสนใจ”

          ข้าพเจ้าหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะมีความเข้าใจในพระสงฆ์ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น ไม่มากก็น้อยนะครับ

Free Web Hosting