ทำไมพระถึงต้องออกธุดงค์?

เนื่องด้วยข้าพเจ้ามีความสงสัย และยังไม่เข้าใจอยู่ตลอดมาว่าทำไมพระปฏิบัติทั้งหลายจะต้องออกธุดงค์ ก็ปฏิบัติพระกรรมฐานกันอยู่เสียที่วัดไม่ได้หรือ?  การธุดงค์เพื่อไปกรรมฐานอยู่ในป่ากันดาร กับ บำเพ็ญกรรมฐานอยู่ที่วัดไม่น่าจะมีผลแตกต่างกันหากมีความตั้งใจจริงและเพียรพยายามปฏิบัติจริงไม่ท้อถอย

                การที่ข้าพเจ้าเช่นนี้ เพราะข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าหากตั้งใจจริงและมีความเพียรพยายามที่เด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอยแล้วย่อมประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตน
ปรารถนาได้เสมอมา อยากจะยกตัวอย่างสักนิดเพื่อประกอบความเชื่อมั่นของข้าพเจ้า (ขอท่านผู้อ่านอย่าได้คิดว่าข้าพเจ้าจะยกตัวเองเลยนะครับ เพราะถ้าข้าพเจ้ามิใช่เป็นคนประเภทนี้แล้วปัญหาข้อนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น)  เช่น เมื่อข้าพเจ้าเรียนหนังสือข้าพเจ้าก็ตั้งใจไว้ว่าจะต้องสอบให้ได้ที่ 1 และเมื่อตั้งใหญ่แล้วในตอนปิดเทอมใหญ่ ขณะที่เด็กทุกคนเอาแต่เที่ยว และเล่นกันอย่างสนุกสนานนั้นข้าพเจ้าจะนั่งดูหนังสือเรียนของปีต่อไปทันที ตัวอย่างเช่นเมื่อสอบไล่ ม.3 เสร็จ จะเลื่อนขึ้น ม.4 ข้าพเจ้าจะรีบเอาหนังสือของ ม.4 มาดูอะไรที่จะต้องท่องจำ เช่นทฤษฎีของเรขาคณิตบทต่างๆ
หรือบทท่องจำต่าง ๆ ข้าพเจ้าจะรีบท่องไว้ทันที บรรดาแบบฝึกหัดทุกบทข้าพเจ้าจะทำความเข้าใจและทดลองทำดูทั้งหมด เป็นต้น ดังนั้นข้าพเจ้ามักจะเรียนจบในตอนปิดเทอม โดยครูยังไม่สอนเสมอและเมื่อมีการสอบทีไรข้าพเจ้าก็จะสอบได้เป็นที่ 1 ตลอดมา

                และข้าพเจ้าจะเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมวัดดอนเมืองแต่เมื่อเข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็หาได้เคยนึกหวาดหวั่นนักเรียนที่มาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ในกรุงเทพฯไม่ และเคยได้เป็นแม้กระทั่งหัวหน้าตอนด้วยคะแนนดี อีกทั้งผลการเรียนตลอด 7 ปี (เตรียมนายร้อย 2 ปี และนักเรียนนายร้อยอีก 5 ปี) ก็ยังอยู่ในประเภทท็อปเท็นอีกด้วย ส่วนในด้านกีฬานั้นหากสนใจในกีฬาประเภทใดข้าพเจ้าจะทุ่มสุดตัว และเล่นจนกว่าจะได้ถ้วยหรือรางวัลชนะเลิศเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาในร่มเช่น สนุกเกอร์ บิลเลียด ไพ่บริดจ์ หรือกีฬากลางแจ้งเช่นฟุตบอล ตะกร้อข้ามตาข่าย โดยเฉพาะยิมนัสติคนั้นหากท่าใดที่ข้าพเจ้าทำไม่ได้ ก็จะหลบเข้าโรงยิมในยามค่ำคืนไปฝึกซ้อมจนกว่าจะได้หรือกอล์ฟ หากตีไม่ดี ข้าพเจ้าก็จะไปนอนทบทวนถึงความผิดพลาดของวงสวิง หากนึกออกแม้ดึกดื่นเที่ยงคืนตี 1 ตี 2 ข้าพเจ้าก็จะถือไม้ลงไปฝึกซ้อมที่สนามจนกว่าจะแก้ไขได้เป็นต้น

       ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงฉงนสนเท่ห์ใจนัก และในวันหนึ่งข้าพเจ้าก็ได้ถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อครับ ทำไมพระจึงไม่กระทำความเพียรเพื่อให้

บรรลุมรรคผลกันในวัด มีความจำเป็นอะไรหรือครับที่จะต้องออกธุดงค์ไปทำความเพียรกันในป่า” เมื่อถามคำถามนี้และข้าพเจ้าก็เล่าเหตุผลที่ข้าพเจ้าเข้าใจ และเชื่อมั่นดังที่ได้กล่าวแล้วแต่ต้นให้หลวงพ่อฟังและย้ำในสุดท้ายว่า “อย่างผมนั้นเรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมวัดดอนเมืองซึ่งนับว่าเป็นโรงเรียนบ้านนอกในขณะนั้นก็ไม่เห็นจะต้องคิดดิ้นรนเข้าไปเรียนในโรงเรียนดีๆ ในกรุงเทพฯเลย แต่เมื่อได้มีโอกาสไปเรียนร่วมกับนักเรียนชั้นดีจากโรงเรียนต่างๆ เหล่านั้นในโรงเรียนนายร้อยผมก็สามารถเรียนกับพวกเขาได้อย่างสบายมาก และผมยังได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าตอนเสียด้วยซ้ำไป”

                “เออ แล้วคุณเคยเล่าถึงเรื่องวิธีที่จะเอาดีในการเรียนและการเล่นของคุณให้ลูกๆ ฟังบ้างไหม?” หลวงพ่อถามเรื่อยๆ

                “เล่าให้ฟังบ่อยเลยครับ เพราะอยากจะให้เขาเรียนเก่ง” ข้าพเจ้าตอบอย่างภูมิใจ

                “แล้วลูกนำวิธีของคุณไปใช้บ้างไหม?” หลวงพ่อถาม

                “ตอนแรก เขาไม่เชื่อหรอกครับว่าเด็กอายุสิบกว่าขวบระดับชั้นมัธยมสมัยนั้น จะมีใครบ้าเรียนขนาดเอาหนังสือชั้นสูงกว่ามานั่งเรียนตอนปิดเทอม เพราะเด็กขนาดนั้นน่าจะชอบเล่นซุกซนมากกว่าจนผมต้องเอาสมุดพกตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 ออกมาให้ดู นั่นแหละเขาจึงเชื่อว่าผมสอบได้ที่ 1 ทั้งสอบซ้อมสอบไล่มาโดยตลอดจริง” ข้าพเจ้าตอบ

                “อะไรกัน คุณเก็บสมุดพกตั้งแต่ชั้นมัธยมมาจนถึงบัดนี้ทีเดียวหรือ?” หลวงพ่อถามติง

                “ครับ ผมเก็บไว้ แม้ขณะนี้ก็ยังอยู่ กระดาษกรอบเป็นสีน้ำตาลเชียวครับ”ข้าพเจ้าตอบอย่างภูมิใจ

                “ในเมื่อลูกคุณเขาเชื่อแล้วว่าวิธีการของคุณทำให้เรียนดีได้แล้วเขายอมเรียนตามวิธีของคุณหรือไม่?” หลวงพ่อถามยิ้มๆ

                “ไม่มีใครเอาวิธีของผมไปใช้สักคนครับ เอาแต่เล่นสนุกกันไปตามประสาเด็กกันหมด”ข้าพเจ้าตอบอย่างท้อแท้

                “นี่แหล่ะคำตอบละ คนเรานั้นไม่เหมือนกัน คุณลองไปถามดูได้ว่ายังจะมีใครสักกี่คนที่เขาใช้วิธีการเรียน และการเล่นแบบคุณบ้างมันผิดปกตินะ มันหนักเกินไปนะสำหรับบุคคลทั่วๆ ไปการจะทำเช่นนี้ได้ต้องอาศัยกำลังใจสูง มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอย อีกทั้งต้องมีความเพียร
เป็นเลิศจึงจะกระทำได้นะ จริงของคุณ การกระทำความเพียร เพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นกระทำในวัดโดยไม่ต้องออกธุดงค์ก็ได้ ถ้ามีกำลังเด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอย และมีความเพียรเป็นเลิศ แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วพระภิกษุ ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ จะกระทำได้สักกี่องค์ เพราะสถานที่และสิ่งแวดล้อมไม่ให้ อีกทั้งยังมีกิจอย่างอื่นที่สงฆ์จะต้องชวยกันปฏิบัติเป็นส่วนรวม นอกจากนั้นญาติโยม อุบาสก อุบาสิกาที่เข้าออกเพ่นพ่านในวัดก็มีมาก เมื่อมีมากตาก็จะเห็น หูก็จะได้ยิน ลิ้นก็จะลิ้มอาหารโอชะ จมูกก็จะได้กลิ่น จิตก็เกิดการรับรู้ และอกุศลกรรมได้โดยง่ายจริงไหม?” หลวงพ่ออธิบายอย่างอารมณ์ดี และเมื่อเห็นข้าพเจ้านั่งฟังด้วยความสนใจ จึงอธิบายต่อว่า

                “ด้วยเหตุนี้เองพระบรมศาสดา ซึ่งหยั่งรู้อารมณ์ของพระภิกษุที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างดี จึงได้มอบอุบายให้พระภิกษุที่เริ่มปฏิบัติออกธุดงค์เพื่อหาความสงบวิเวกในป่า ในเขา ทั้งนี้ก็เพื่อให้อารมณ์ของจิตสงบ ระงับในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กล่าวคือ

                ตาที่เคยเห็นรถรุ่นใหม่รูปงาม หรืออุบาสิกาที่อ่อนหวานน่ารักก็กลับได้เห็น ลิงค่าง บ่าง ชะนี หรือเสือ สิงห์ กระทิง แรด แทน ความอยากได้ใคร่ดีในรูปจะได้หมดไป

                หูซึ่งเคยได้ยินแต่เสียงเพลงไพเราะ หรือเสียงหวานเสนาะโสตของสาวงามก็กลับได้ยินเสียงลิง ค่าง บ่าง ชะนี หรือนก กา แทน ความอยากได้ใครดีในเสียงก็จะสงบไป

                จมูกที่เคยได้กลิ่นหอมจากน้ำหอมลือชื่อก็กลับได้กลิ่นไอดินแทนความอยากได้ใคร่ดีในกลิ่นก็จะสงบระงับไป

          ลิ้นที่เคยลิ้มรสอาหารรสเลิศที่ญาติโยมเคยเอามาถวาย กลับต้องลิ้มรสเผือก มัน ผลไม้ป่าแทน ความอยากได้ใคร่ดีในรส ก็จะสงบระงับไป

                ส่วนกายที่เคยหนุนหมอนอ่อนนุ่ม ห่มผ้าห่มยามหนาวหรืออาบน้ำฟอกสบู่อย่างสะดวกสบาย ก็จะได้สัมผัสกับขอนไม้ หญ้า ฟางแทน ความอยากได้ใคร่ดีในสัมผัสก็จะสงบระงับไป

                และเมื่อความอยากได้ใคร่ดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หมดก็หมายถึงกามฉันทะหมด ความคิดที่จะจอล้างจองผลาญกับผู้ใดในป่าย่อมไม่มี เป็นอันว่าพยาบาทไม่มี ความคิดฟุ้งซ่านก็ไม่มี เพราะไม่มีอะไรให้คิดเหมือนอยู่ที่วัด ความสงสัยลังเลคือวิจิกิจฉา ก็ย่อมไม่มีเพราะถ้ามีคงไม่

ออกธุดงค์ และถ้าไม่มีความง่วงเหงาหาวนอนด้วยก็หมายความว่า นิวรณ์ 5 ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามในการบำเพ็ญเพื่อเข้าถึงปฐมฌานหมดไป การเข้าสู่ปฐมฌานก็ย่อมเป็นไปได้โดยง่าย และเมื่อปฐมฌานเกิดได้ ฌาน 2,3,4 ก็จะเกิดตามขึ้นมาได้ นั่นคือการเจริญสมถกรรมฐานเพื่อเข้าถึงฌาน 4 ย่อมทำได้แน่นอน และเมื่อทรงฌานได้เอากำลังของฌานมาพิจารณาวิปัสสนาญาณก็ย่อมเป็นไปโดยง่ายอีกในที่สุดปัญญาก็จะเกิด และเมื่อปัญญาเกิด ก็นำปัญญานั้นแหละไปห้ำหันกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม จนละสังโยชน์ 10 ไปทีละข้อๆ ถ้าได้ 3 ข้อก็เป็นพระโสดาบันและสกิทาคามี ถ้าละได้ 5 ข้อก็เป็นอานาคามี ถ้าละได้ทั้ง 10 ข้อก็เป็นพระอรหันต์ บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็วกว่าที่จะเริ่มฝึกและนั่งเพียรปฏิบัติอยู่แต่ในวัดนะการธุดงค์จึงเปรียบเสมือนเครื่องช่วย หรือเครื่องผ่อนแรงที่ช่วยให้การบำเพ็ญเพียรไปสู่มรรคผลนิพพานของพระภิกษุที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆง่ายขึ้นเท่านั้นเองนะ”หลวงพ่ออธิบายอย่างยืดยาว แต่แปลกเป็นที่สุดที่ข้าพเจ้าสามารถจดจำได้ทั้งหมดแม้จนกระทั่งทุกวันนี้

                “ถ้าการออกธุดงค์ ได้ผลดีเช่นนี้ ทำไมพระภิกษุสงฆ์จึงไม่ออกธุดงค์ไปเรื่อยๆ เล่าครับ กลับเข้ามาอยู่วัดในเมืองอีกทำไมครับ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความสงสัย

                “อ้าว ถ้าท่านสำเร็จเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ไม่กลับวัดท่านจะมีโอกาสได้แสดงธรรมสั่งสอนอุบาสก อุบาสิกา เพื่อสั่งสมบารมีต่อไปได้อย่างไรล่ะคุณ จะให้ท่าสั่งสอน ลิง ค่าง ชะนี ในป่าตลอดไปหรือ?”หลวงพ่อตอบอย่างเห็นขัน และเมื่อข้าพเจ้าหัวเราะจึงพูดต่อไปว่า “พระพุทธเจ้าเอง เมื่อท่านได้ทรงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็เข้ามาแสดงธรรมโปรดผู้คนมิใช่หรือ?”

                “จริงครับ หลวงพ่อ”ข้าพเจ้าตอบ

                “อีกประการหนึ่ง การกลับเข้าวัดในเมือง ก็จะเป็นการทดสอบจิตไปในตัวด้วยนะว่า เมื่อตาหู จมูก ลิ้น กายไปเจอกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเย้ายวนในเมืองเข้าแล้วไปบอกจิต จิตมีปัญญาเพียงพอที่จะรู้เท่าทันกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมหรือไม่ ถ้ายังหวั่นไหวก็จะต้องออกธุดงค์ เข้าป่าไปฝึกกันใหม่นะ เพราะถือว่าจิตยังไม่แน่จริง เข้าใจไหมล่ะ”หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมแล้วถาม

                “เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อ” ข้าพเจ้าตอบด้วยความปลื้มปิติ หวังว่าคำถามข้อนี้ของข้าพเจ้า จะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงประโยชน์ ที่พระออกธุดงค์บ้างพอสมควรทีเดียวนะครับ

Free Web Hosting