ต้นตระกูลกรรมฐาน
แสดงโดยพระราชสังวรญาณ(พุธ ฐานิโย) เนื่องในวันบูรพาจารย์ ๒ ธ.ค. ๓๙

พระอริยกวี (อ่อน) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นพระอุปัชฌาย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
"บูรพาจารย์" หมายถึง อาจารย์ผู้เกิดก่อนเรา ท่านเกิดก่อนเรา ท่านบวชก่อนเรา ท่านสอนเรามาก่อน จึงได้ชื่อว่า พระบูรพาจารย์
อันดับของพระบูรพาจารย์ในภาคอีสาน อันดับแรก ท่านอริยกวี (อ่อน) ได้ไปอุปสมบทในสำนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งสมัยนั้นพระองค์ยังทรงอุปสมบทอยู่ ยังไม่ทรงลาผนวชออกมาครองเมือง แล้วท่านผู้นั้นก็ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมเรียนรู้พระธรรมวินัย แล้วก็นำธรรมวินัยซึ่งถอดแบบจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ไปประดิษฐานคณะพระกรรมฐานธรรมยุตสงฆ์ที่วัดสีทอง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อสิ้นบุญบารมีของท่านอริยกวี (อ่อน) ก็ตกทอดมาถึงท่าน พันธุละ ซึ่งเป็นสหธรรมิกของท่าน
ถัดจากนั้น ก็มาถึงยุคของพระเดชพระคุณ เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ท่านบริหารกิจการพระศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและทั้งฝ่ายปฏิบัติ ภาษากฎหมายเขาว่า คันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ คันถธุระ มีหน้าที่จัดการบริหาร ปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ตราเป็นกฎหมายสงฆ์ขึ้นมาเรียกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และก็จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม คือ สอนนักธรรม สอนบาลี สอนทั้งการปฏิบัติธุดงคกรรมฐาน สอนจนกระทั่งสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นนักปฏิบัติที่ยอดเยี่ยม ขนาดขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ พอขยับตัว ขาหัก ยังนั่งเทศน์เฉย เอาซิ

จ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์นี้แหละ ท่านมีลูกศิษย์สององค์ องค์หนึ่งคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถร) ตอนนี้มาแยกสายกัน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถร) เป็นผู้ทำธุระในฝ่ายคันถธุระแล้วลูกศิษย์อีกองค์หนึ่งคือ พระเดชพระคุณ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นี้ ทำหน้าที่เฉพาะฝ่ายปฏิบัติฝ่ายเดียว
พระธุดงค์ในภาคอีสานที่ออกเดินธุดงค์ไปตามหัวเมืองน้อยเมืองใหญ่ ตามป่าตามชนบทเป็นองค์แรกเท่าที่รู้มา คือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลังจากที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วประมาณ ๖ พรรษา ก็มาได้ลูกศิษย์องค์สำคัญ คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต นี่เป็นกำลังสำคัญ
ถ้าจะเปรียบเทียบผู้สอนหนังสือ หลวงปู่เสาร์สอนได้เฉพาะแต่ระดับประถมและมัธยม แต่หลวงปู่มั่นสอนถึงระดับมหาวิทยาลัยจนถึงปริญญาเอก ทีแรกหลวงปู่มั่นมาเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์แต่บุญบารมีของหลวงปู่มั่นนั้น บุญวาสนาของท่านมีปฏิภาณรวดเร็ว การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าได้ดี แล้วลงผลสุดท้าย ขั้นสมถะ พระอาจารย์เสาร์สอนพระอาจารย์มั่น ขั้นวิปัสสนาพระอาจารย์มั่นย้อนกลับมาสอนพระอาจารย์เสาร์ อาจารย์กลับเป็นลูกศิษย์ ลูกศิษย์กลับเป็นอาจารย์ แต่ท่านก็ยังมีความเคารพต่อกันอย่างสุดซึ้ง ซึ่งหาความเคารพของพระภิกษุสามเณรปัจจุบันนี้มีต่อครูบาอาจารย์นั้น จะเปรียบเทียบอย่างท่านไม่ได้เลย แม้ว่าท่านจะเก่งกว่าอาจารย์ในทางภูมิจิต ภูมิธรรม ท่านก็ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่นอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่าน เคารพปรนนิบัติอยู่จนกระทั่งมรณภาพตายจากกันไป อันนี้คือจุดเริ่มของพระธุดงคกรรมฐานในสายภาคอีสาน
อยู่มาภายหลัง พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ไปเรียนหนังสืออยู่ที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี พอดีในพรรษานั้น พระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่วัดบูรพาฯ ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ไม่ทราบว่าเป็นพ.ศ. เท่าใด ทีนี้พระอาจารย์ดูลย์ กับ พระอาจารย์สิงห์ เวลาว่างจากเรียนพระปริยัติธรรม ว่างจากการสอนหนังสือ (เมื่อก่อนนี้ โรงเรียนชั้นประถมนี้อยู่ในวัด) พอตกค่ำก็ไปเฝ้าพระอาจารย์มั่น ไปเรียนกรรมฐาน ไปฟังเทศน์ฟังธรรมพระอาจารย์มั่น ในทางปฏิบัติสมาธิ สมถภาวนา แล้วมาปฏิบัติตาม เกิดผลจิตสงบเป็นสมาธิ มีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข ทั้งสององค์ท่านก็เลยตัดสินใจเลิกเรียนปริยัติธรรมติดตามพระอาจารย์มั่นไปเป็นลูกศิษย์ เดินธุดงค์ไปทั่วภาคอีสาน
โอวาทแนวทางการปฎิบัติธรรมของ พระอุปาลีคุณูปมาจารย์ จันทร์ สิริจันโท

ธรรมโอวาท ท่านได้กล่าวไว้มากมาย ขอคัดลอกมาบางส่วน ดังนี้ คือ ที่ว่าร่างกายจิตใจเป็นแก้วสารพัดนึกนั้น พึงพิเคราะห์ดู เรามีตา นึกจะดูอะไรก็ดูได้เรามีหู นึกจะฟังอะไรก็ฟังได้ เรามีจมูก อยากจะรู้กลิ่นอะไรก็รู้ได้ เรามีปาก มีลิ้น นึกอยากจะรู้รสอะไรก็รู้ได้ นึกอยากจะกินอะไรก็กินได้ เรามีมือ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำได้ เรามีเท้านึกอยากเดินไปไหนก็ไปได้ เรามีจิตมีใจ นึกอยากจะน้อมนึกตรึกตรองอะไร ก็ได้สมประสงค์ ผู้รู้ตนว่า เป็นของวิเศษอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ได้ความสุข คือ ใช้ตามหน้าที่ ไม่ให้วัตถุเหล่านั้นเป็นข้าศึกแก่ตน คือ เกิดปฏิฆะโทมนัสยินดี ยินร้ายเพราะวัตถุของตน นิสัยของผู้ฉลาด ย่อมไม่ให้วัตถุวิเศษของตนเป็นข้าศึกแก่ตน อารมณ์ที่ผ่านไปผ่านมา เลือกเอาแต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่จักเป็นโทษ จงปล่อยฝ่านไปเสีย ไม่รับไม่เก็บเข้ามาไว้ คือ หัดชำระวัตถุภายในนี้ ให้ผ่องใส สมกับที่ว่า เป็นแก้วสารพัดนึกอยู่ทุกเมื่อ อาศัยความหัดบ่อยๆ สติก็แก่ขึ้น วัตถุภายในก็ปราศจากโทษ คือ ไม่เป็นข้าศึกแก่ตน ให้ความสุขแก่ตนทุกอิริยาบถ จึงสมกับพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน

ถ้าว่าโดยสมมติ สกลกายนี้เองเป็นตน ถ้าว่าโดยสกลกายนี้เองเป็นธรรม ที่ว่า อตฺตสรณา ธมฺมสรณา ให้มีตนเป็นที่ระลึกนี้ คือ ให้เห็นว่า ตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน ความรู้ธรรมเป็นพุทธะ สกลกายที่ทรงคุณความดีไว้เป็นธรรม ความประพฤติให้คุณความดีมีขึ้นในตนเป็นสังฆะ ผู้ที่มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนอย่างนี้ ชื่อว่า ผู้ถึงไตรสรณคมน์ในชาตินี้ ตลอดชาติชั้นศีล ชั้นสมาธิ ชั้นปัญญา ชั้นวิมุตติ ชั้นวิมุตติญาณทัสสนะ สุดแท้แต่วาสนาของใครจะถึงได้ในชั้นใด จะต้องได้รับผล คือ ความสุขตามชั้นตามภูมิของตนทั้งนั้น อย่าเป็นคนสงสัยลังเลยึดให้มั่นคั้นให้ตาย อย่างมงายเชื่อเกจิอาจารย์ที่สอน นอกรีตนอกทาง อย่าพากันหลงใหลไปตามเขา

เพราะพระนิพพานของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า นิพพานสมบัติ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา และ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ มีสติปัฏฐาน เป็นต้น มีอัฏฐังคิกมรรค เป็นที่สุด เหล่านี้เป็นนิพพานสมบัติ อย่างอื่นๆ ถ้าไม่เป็นไปตามนี้เป็นอวิชชาทั ้งนั้น พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องประพฤติตนให้มั่งมีเหมือนพระพุทธเจ้า ทั้งสมบัติภายนอกแลสมบัติภายใน
<div style="text-align:right;position:fixed;bottom:3px;right:3px;width:100%;z-index:999999;cursor:pointer;line-height:0;display:block;"><a target="_blank" href="https://www.freewebhostingarea.com" title="Free Web Hosting with PHP5 or PHP7"><img alt="Free Web Hosting" src="https://www.freewebhostingarea.com/images/poweredby.png" style="border-width: 0px;width: 180px; height: 45px; float: right;"></a></div> </body> </html>