ประวัติย่อหลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
บิดา นายคูน เสวตร์วงศ์
มารดา นางแพง เสวตร์วงศ์
เกิด วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุน ณ บ้านกุดสระ หมู่ที่ ๒ ตำบลกุดสระ อำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง ๘ คน อาชีพของครอบครัว คือ ทำนา
อุปสมบท อายุ ๑๘ บวชเป็นเณร เมื่ออายุครบเกณฑ์ก็ได้บวชเป็นพระตามประเพณี จากนั้นก็ลาสิกขา มาครองเรือนได้ประสพความเป็นอนิจจัง ทุกขัง แห่งสังขาร และการพลัดพราก ครั้นปี พ.ศ.๒๔๘๖ บวชเป็นพระมหานิกายที่วัดบ้านยางมีพระครูคูณเป็นอุปัชฌาย์ ได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุตที่วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ เวลา ๑๓.๑๕ น. โดยมีท่านเจ้าคุณเทพกวี (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาอยู่กับหลวงปู่มั่น ในยุคบ้านหนองผือ ได้ติดตามหลวงตามหาบัวออกธุดงค์เป็นระยะ ๆ หลวงปู่หล้าเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นอีกรูปหนึ่งที่ก้าวผ่านห้วงโอฆะเข้าสู่แดนนิพพาน
การจาริกเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ หลังออกพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ติดตามท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ออกวิเวกไปตามป่าเขา ต่อมาได้มีโอกาสพบท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ถ้ำบ้านไผ่ และท่านก็เมตตาช่วยเหลืออนุโมทนา ในกิจธุดงค์ด้วยดี เมื่อได้เวลาอันควรพระอาจารย์หล้า เขมปัตโต ก็เดินทางกลับมากราบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน และมีโอกาส ถวายการปฏิบัติรับใช้พ่อแม่ครูอาจารย์ ด้วยความเคารพศรัทธา
ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๐ ชาวบ้านบ้านแวงหนองสูงใต้ มากราบนิมนต์ ท่านไปพำนักที่ภูจ้อก้อ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต จึงได้มาพำนักที่ ภูจ้อก้อ หรือวัดบรรพตคีรี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) บ้านแวง ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ตั้งอยู่บนภูเขา ทิวทัศน์งดงามร่มรื่นมีก้อนหินน้อยใหญ่เรียงรายงดงาม
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐานที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ธรรมเทศนาของท่าน เป็นธรรมะพระป่าที่เข้มข้นตรงไปตรงมา
มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ณ วัดภูจ้อก้อ สิริอายุได้ ๘๔ ปี ๑๑ เดือน

โอวาทแนวทางการปฎิบัติธรรมของ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
"การพิจารณาไตรลักษณให้เห็นชัดประจักษ์แจ้งนี้นา ไม่หวังว่า จะหอบใส่รถไปพระนิพพานด้วยหรอก อนิจจาเอ๋ย พิจารณาเพื่อถอนความหลง ของเจ้าตัวที่เข้าใจผิดว่าเป็นของเที่ยงเป็นของสุขเป็นตัวเราเขาสัตว์บุคคล ต่างหาก เพื่อให้หน่ายความหลงของเจ้าตัวที่เคยหลงมาอวิชชาก็ว่าปัญญา เป็นหัวหน้าของสมาธิและศีลตอนนี้มีพระกำลังมาก"