แย้มบรรยาย
ค่าของคน
-นำ-
 อันสมุฏฐานที่จะเกิดเรื่อง ค่าของคน  ขึ้นนั้นเนื่องมาจากได้ปรารภขึ้นมาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นของมีค่าด้วยกันทั้งนั้น จะต่างกันก็แต่มีค่ามาก มีค่าน้อย แล้วแต่เรื่องของสิ่งนั้นไม่มีค่าเป็นเงินตรา ก็คงมีค่าในทางที่เป็นอุปการะ เป็นดังนี้ตลอด แม้แต่ต้นหญ้า ก็ยังเป็นของมีค่าได้ และค่านั้นก็กระทบกระเทือนถึงคนเรา ยิ่งสิ่งที่เป็นอุปการะแก่การดำรงชีพของคน ยิ่งกระทบกระเทือนหนักขึ้น จนถึงกับมีคำบัญญัติไว้ว่า  ค่าครองชีพ
ซึ่งมีความหมายถึงราคาของวัตถุสิ่งของที่เป็นอุปการะแก่การครองชีพของคน ลองคิดถึงเรื่องค่าที่เกี่ยวข้องกับคน หรือค่าที่คนเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น ๆ แล้วมีมากมายหลายประการ แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีอะไรเลยที่คนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือที่เกี่ยวข้องกับคน เป็นสิ่งที่ปราศจากค่า ดูมีค่าไปเสียทั้งนั้น หวนกลับมารำพึงถึงคนบ้าง ในเมื่อบรรดาสิ่งต่าง ๆ มีค่าไปทั้งนั้น คนจะพึงพ้นไปจากความมีค่าได้ที่ไหน ก็คงมีค่าเหมือนกัน และยิ่งกว่านั้นยังมีคำพูดกันอยู่ทั่ว ๆ ไปว่า คนนี้มีค่า คนนั้นไร้ค่า คนนั้นราคาต่ำ คนโน้นราคาสูง ประมูลกันอยู่เนือง ๆ จึงเกิดความคิดขึ้นว่า
“คนจะมีค่าอย่างไร เอาอะไรเป็นกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องค่า”
เมื่อเกิดความคิดเช่นนี้ ก็นำความคิดไปค้น เป็น คิดค้น ครั้นค้นได้ก็เอามาคิดอีก คือ ค้นคิด เพื่อสอบสวนดูว่าค่าของคนนั้นมีอยู่อย่างไร มีกำหนดกฎเกณฑ์อย่างไร เมื่อคิดแล้วก็ค้น ค้นได้แล้วก็คิดอยู่เรื่อย ๆ ในที่สุดก็ประมวลลงเป็นเรื่อง ค่าของคน ดังจะบรรยายต่อไป.
1. ค่า

คำว่าค่าในที่นี้ มีความหมายเป็น ๒ สถาน คือหมายถึงราคาตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไป เช่น คำว่า ค่าครองชีพ ก็หมายถึงราคาสิ่งของที่เกื้อกูลแก่การดำรงชีพอยู่ในโลกสถาน ๑ และหมายถึงประโยชน์ คือความเป็นสิ่งเกื้อกูลแก่การดำรงชีวิตในส่วนที่เป็นคุณอีกสถาน ๑ ซึ่งจะจำแนกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๓ ประเภท คือ.-
๑.            มูลค่า   หมายถึงราคาดั้งเดิม
๒.           บัญญัติค่า หมายถึงราคาที่กำหนดขึ้น และ
๓.            คุณค่า         หมายถึงประโยชน์อันเป็นสิ่งเกื้อกูล
มูลค่า     ประเภทที่ ๑ หมายถึงราคาดั้งเดิม ได้แก่ราคาที่เข้าใจกันในทางค้าขายว่า
“สินค้าทุก ๆ อย่างต้องมีราคาต้นทุน”

ดังนั้น ถ้าจะเข้าใจว่าราคามูลค่าได้แก่ราคาทุน ก็ไม่น่าจะปรับว่าเป็นความเข้าใจผิด ราคาทุนนี้กำหนดขึ้นโดยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ บางประเภทไม่มีทุนโดยเงินตรา แต่ใช้แรงงานเป็นทุน เช่น การเพาะปลูกพืชผลของชาวสวน ชาวไร่ เป็นต้น พืชผลนั้น ๆ มิได้ลงทุนเป็นเงินตราก็มี แต่ชาวสวน ชาวไร่ ต้องใช้แรงในการเพาะปลูก ตลอดถึงในการทำนุบำรุงพืชผล รดน้ำ พรวนดิน การงานเหล่านี้ใช้แรงเป็นทุน แต่แล้วถึงเวลาจำหน่าย ก็ต้องตั้งราคาทุนขึ้นเป็นเงินตราเพื่อชดเชยแรงงานต่าง ๆ ของตน ราคาทุนบางอย่าง ตั้งขึ้นจากเงินตราที่ต้องเสียไปก่อนก็มี ถ้าเสียไปมาก ก็เป็นอันว่า ลงทุนมาก เสียไปน้อย ก็เป็นอันว่า ลงทุนน้อย ทุนมากเรียกว่าลงทุนแพง ทุนน้อยเรียกว่าลงทุนถูก เรื่องทุนจะถูกหรือแพงในการค้าขาย ย่อมขึ้นอยู่กับเงินตราที่เสียไปก่อน ดังจะขอยกตัวอย่างในเรื่องต้นทุนให้เห็นสักข้อหนึ่ง
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนปลาย ได้สร้างภาษาไทยขึ้นคำหนึ่ง เป็นคำที่แพร่หลายกว้างขวางมาก พูดกันชินปาก ฟังกันชินหู ทั้งเข้าใจกันเจนใน นั่นคือคำว่า เซ็งลี้ แม้ในบัดนี้ความหมายของคำที่ว่านี้ ก็ยังคงเฟื่องอยู่ ผู้ที่ทำการเช่นนั้น ใส่คำว่านักเข้าข้างหน้าเป็น นักเซ็งลี้ ผู้ที่จะบำเพ็ญตนเป็นนักเซ็งลี้นั้น เขามีข้อสอบกันเหมือนกันว่า ใครจะเป็นนักเซ็งลี้ได้หรือไม่ ข้อสอบของเขานั้นเป็นโจทย์ว่าดังนี้.-
มีพ่อค้าคนหนึ่ง จะนำส้ม ๓ ถุง บรรจุถุงละ ๖๐ ผล เข้าไปขาย ณ ท้องที่แห่งหนึ่ง การจะนำส้มไปขาย ณ ท้องที่นั้น ต้องเสียภาษี ๓ ด่าน ซึ่งมีพิกัดว่าส้มเก็บถุงละ ๒๐ ผล ตกลงพ่อค้าส้มจะต้องเสียภาษีส้มของตน ๓ ถุง ครั้งละ ๖๐ ผล ต่อด่านภาษีแห่งหนึ่ง ๆ ถามว่าพ่อค้าจะนำส้มเข้าไปขายได้กี่ผล
โจทย์ข้อนี้ ถ้าคิดโดยเผิน ๆ แล้ว ก็ไม่เห็นทางที่พ่อค้าจะนำส้มเข้าไปขายได้เลย ต้องเสียภาษีหมดไปเพราะด่านละ ๖๐ ผล ๓ ด่าน ก็เท่ากับส้มทั้งหมดที่มีอยู่ นักเซ็งลี้เขาบอกว่าคิดอย่างนี้จะเป็นนักเซ็งลี้ไม่ได้ หมายความว่าสอบตก ครั้นถามเขาให้เขาคิดให้ฟัง ตามวิธีของนักเซ็งลี้ พ่อค้านั้นนำส้มไปขายได้ ๔๐ ผล เห็นว่าเขาควรจะเป็นนักเซ็งลี้ได้จริง ๆ ที่นำมากล่าวไว้นี้ มิใช่มุ่งจะให้เป็นข้อสอบการเป็นนักเซ็งลี้ หากแต่มุ่งจะให้ตัวอย่างเรื่องราคาทุนเท่านั้น คือว่าส้มที่พ่อค้านั้นนำผ่านเข้าไปขายได้ ๔๐ ผลนั้น ต้นทุนเท่ากับ ๑๘๐ ผล คิดเฉพาะทุนของสินค้าเท่านั้น เบี้ยบ้ายรายทางในการนำส้มเข้าไปกว่าจะถึงที่ขายยังไม่ได้คิด หากบวกเข้าด้วยก็เห็นจะเท่ากับอีก ๑๘๐ ผล รวมราคาทุนของส้ม ๔๐ ผลนั้น เท่ากับราคาของส้ม ๓๖๐ ผล อย่างนี้เรียกว่ามูลค่า คือราคาดั้งเดิมหรือราคาทุน
บัญญัติค่า ประเภทที่ ๒ หมายถึงราคาที่กำหนดขึ้น ได้แก่ราคาของวัตถุที่กำหนดกันขึ้นตามอัตราของเงินตรา การตั้งราคาในตอนนั้น อาจกำหนดจากหลักเกณฑ์ราคาทุน แล้วบวกผลกำไรเพิ่มเข้าไปอีก เช่นอย่างส้ม ๔๐ ผลนั้น ได้ลงทุนมาเท่ากับ ๓๖๐ ผลแล้ว จะขายเพียงเท่าทุน ย่อมผิดหลักการค้า เพราะหลักการค้าโดยทั่วไปตราไว้ว่า
“ซื้อทุน ขายทุน เท่ากับขาดทุน”
หรือว่า
“ซื้อทุนขายทุนก็ป่วยการค้า นอนเสียสบายกว่า”
เมื่อเป็นเช่นนี้ ส้ม ๔๐ ผลนั้น พ่อค้าอาจตั้งราคาเท่ากับส้ม ๔๐๐ ผล หรือ ๕๐๐ ผลก็ได้ การตั้งราคาทำนองนี้เรียกว่ากำหนดเอาราคาทุนเป็นเกณฑ์
ในบางกรณี การตั้งราคาอาจจะยึดเอาอำเภอใจเป็นเกณฑ์ก็มี หมายความว่าพอใจจะขายเท่านั้น ฝ่ายซื้อจะพอใจหรือไม่ ถ้าพอใจก็ซื้อ หรือฝ่ายซื้ออาจตั้งราคาให้ตามพอใจของตน ตนพอใจจะซื้อเท่านี้ ฝ่ายขายจะพอใจหรือไม่ ถ้าพอใจก็ขาย อย่างนี้เป็นการถือเอาความพอใจเป็นเกณฑ์ตั้งราคา ซึ่งตั้งขึ้นได้ทั้งฝ่ายเจ้าของวัตถุและฝ่ายผู้ต้องการวัตถุ บางทีก็ตั้งขึ้นไว้จนซื้อขายกันไม่ได้ก็มี ฝ่ายเจ้าของวัตถุตั้งไว้สูงลิบไม่มีใครกล้าซื้อก็มี ฝ่ายผู้ต้องการตั้งเสียต่ำจนเจ้าของวัตถุสุดจะสนองได้ก็มี ดังจะนำเรื่องมาเสนอไว้ เป็นตัวอย่างต่อไปนี้
สมัยนี้ กำลังนิยมพระพุทธรูปพิมพ์ขนาดเล็ก ที่เรียกกันโดยทั่ว ๆ ไปว่า พระเครื่อง เสาะแสวงหากันมาก ยิ่งปรากฏอานุภาพในคราวที่นายตำรวจชั้นอัศวินถูกยิง แต่ไม่เข้าดูยิ่งเพิ่มความนิยมกันเป็นอันมาก ถึงหาบูชาด้วยราคาแพง มีพระเครื่องของท่านผู้หนึ่ง ซึ่งได้รับยกย่องจากนักเลงพระเครื่องมาก มีผู้ให้ราคา ๕,๐๐๐ บาท ถ้าจะขายก็มีผู้ซื้อทันที นี่คือฝ่ายผู้ซื้อตั้งราคาให้ตามความพอใจของคน ทางท่านผู้เป็นเจ้าของเอา ๑๐ คูณ เป็น ๕๐,๐๐๐ บาท ก็คือว่าตั้งราคาเอาตามความพอใจเหมือนกัน แต่ความพอใจนี้มีเจตนาที่จะไม่ยอมขายเป็นแรงสนับสนุน ทั้งนี้ตามที่ได้ทราบจากเจตนาอันแท้จริงในการประมูลค่าเสียสูงลิ่วเช่นนั้น ท่านเจ้าของบอกว่า
“เงินเพียง ๕,๐๐๐ บาท หรือ ๕๐,๐๐๐ บาท อาจหาได้ในชีวิตนี้ แต่พระองค์นี้ไม่แน่ว่าจะหาได้อีกในชาตินี้ ดังนั้นแม้นว่าจะต้องขายกันทั้งทีแล้ว ก็จะขอขายให้เต็มความพอใจของตนขนาดถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ถึงจะค่อยยังชั่วสักหน่อย”
นี่เป็นการตั้งราคาตามอำเภอใจ ทางฝ่ายเจ้าของวัตถุนั้น ๆ ตนเองมิต้องลงทุนลงแรงประการใด ของผู้อื่นให้มาโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย
การตั้งราคาตามอำเภอใจ หรือตามความพอใจนั้น อาจเกิดขึ้นจากทางผู้ต้องการวัตถุก็ได้ และอาจจะถูกไปแพงไปได้อีกเหมือนกัน แล้วแต่ความพอใจของผู้ต้องการ นั้นอาศัยอำนาจกุศลหรืออกุศลเข้าคลุกเคล้า เคยปรากฏเรื่องแต่โบราณกาลอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งราคาโดยยึดอำเภอใจเป็นเกณฑ์ ขอนำมาเสนอ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นนิทัศนะแห่งการตั้งราคาตามอำเภอใจทางฝ่ายผู้ต้องการ เรื่องมีดังนี้.-
พ่อค้าทางชนบทตอนเหนือ ต้อนม้าเข้าไปขายในเมืองพาราณสี ประมาณ ๕๐๐ ตัว
ทางราชการในเมืองพาราณสีกำลังต้องการม้าไว้ใช้ในราชการ พระเจ้าพาราณสีตรัสสั่งให้เจ้าพนักงานประเมินราคา ไปประเมินราคาม้า ๕๐๐ ตัวของพ่อค้านั้น
ในครั้งนั้น เจ้าพนักงานประเมินราคา เป็นคนมีอำนาจในราชการมาก ลงตีราคาว่าวัตถุใดมีราคาเท่าใดแล้วต้องมีราคาเท่านั้น ไม่มีลดหย่อนเป็นอันขาด
เจ้าพนักงานตีราคาไปพบกับพ่อค้าม้า ไต่ถามทราบว่ามีม้า ๕๐๐ ตัวด้วยกัน ครั้นพ่อค้าถามบ้างว่า
“ท่านกรุณาให้ราคาเท่าใด”
ก็ตอบทันทีว่า
“ข้าวสาร ๑ ทะนาน”
พ่อค้าตบอก
“ตายแล้ว ม้า ๕๐๐ ตัว ราคาเท่ากับข้าวสาร ๑ ทะนาน ข้าพเจ้าตายแน่”
“เรื่องเป็นเรื่องตายข้าพเจ้าไม่เกี่ยว”
เจ้าพนักงานว่า
“ข้าพเจ้าไม่มีหน้าที่รับรู้ในเรื่องเป็นเรื่องตายของท่าน หน้าที่ของข้าพเจ้าคือ ประเมินราคาวัตถุที่ทางราชการต้องการเท่านั้น ข้าพเจ้าว่า ม้า ๕๐๐ ตัว มีราคาเท่ากับข้าวสาร ๑ ทะนาน นี่เป็นความรับรู้ของข้าพเจ้า และท่านเป็นผู้รับฟังและรับปฏิบัติ”
เป็นการเหลือทนจริง ๆ พูดอย่างไร ๆ เจ้าพนักงานก็คงยืนกรานอยู่อย่างนั้น ไม่ยอมผ่อนผันลงมาเลย พ่อค้าม้าเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ต้องวิ่งไปหาพรรคพวกกัน ได้รับแนะนำให้ติดสินบนเจ้าพนักงานขอให้เขาตีราคาข้าวสาร ๑ ทะนานนั้นหน้าพระที่นั่งในวันรุ่งขึ้นอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้กระทำตามคำแนะนำแล้ว เจ้าพนักงานก็รับปาก
พอถึงวันรุ่งขึ้น พ่อค้าม้าก็เข้าเฝ้า พร้อมเสวกามาตย์ราขบริพาร ทั้งเจ้าพนักงานตีราคานั้นด้วย เมื่อคราวตีราคาม้า ๕๐๐ ตัว เจ้าพนักงานตีราคาหน้าพระที่นั่ง
“ม้า ๕๐๐ ตัวราคาเท่ากับราคาข้าวสาร ๑ ทะนาน”
ที่ประชุมตกตลึงกันไปหมด พ่อค้าม้าเอ่ยทำลายความเงียบขึ้น
“ข้าพเจ้ารับฟัง ม้า ๕๐๐ มีราคาเท่ากับข้าวสาร ๑ ทะนาน แต่ขอท่านได้กรุณาตีราคาข้าวสาร ๑ ทะนานนั้นให้ข้าพเจ้าฟังอีกครั้งว่า ราคาเท่าไร”
“ข้าวสาร ๑ ทะนาน”
เจ้าพนักงานเอ่ย
“มีราคาเท่ากับพระราชสมบัติ และพระนครพาราณสีทั้งสิ้น”

หน้าต่อไป

Free Web Hosting