เสียงที่ประชุมโห่ร้องกันครื้นเครง เพราะราคาข้าวสารทะนานเดียวนั้นมากมายเหลือเกิน เรียกได้ว่า
ค่าควรเมือง
ทีเดียว
ผลที่สุด เจ้าพนักงานผู้นั้นต้องถูกปลด
นี่เป็นนิทัศนะในการตั้งราคาตามอำเภอใจได้เรื่องหนึ่ง
คุณค่า ประเภทที่ ๓ หมายถึงความเป็นสิ่งเกื้อกูลในส่วนคุณ ได้แก่สิ่งใดเป็นวัตถุมีอุปการะอย่างใดอย่างหนึ่งแก่คน สิ่งนั้นก็เป็นวัตถุมีคุณค่า อันการกำหนดคุณค่านี้ จะเอาค่าอะไรเป็นเกณฑ์หาได้ไม่ กล่าวคือจะเอามูลค่า หรือบัญญัติค่า มาตั้งเป็นเกณฑ์แน่นอนลงไปว่า
“วัตถุใดมีมูลค่าสูง มีราคาที่ตั้งไว้สูง วัตถุนั้นเป็นสิ่งมีคุณค่า”
ดังนี้ไม่ได้เลย บางสิ่งบางอย่าง ถ้ากำหนดโดยมูลค่าหรือโดยบัญญัติค่าแล้วต่างกันลิบลับ แต่คุณค่ากลับตรงกันข้าม เช่น พิมเสนกับเกลือ พิมเสนมีราคาแพง เกลือมีราคาไม่แพง (ถูก) เทียบปริมาณเท่า ๆ กัน พิมเสนหนัก ๑ ตำลึง เดี๋ยวนี้มีราคาถึง ๔๐ บาท ราคานี้เฉพาะพิมเสนชั้นดี แต่เกลือหนัก ๑ ตำลึง ราคาไม่ถึง ๑ บาท ยอมให้ว่าเกลือตำลึงละ ๑ บาท ก็ยังถูกกว่าพิมเสน ๔๐ เท่า ราคาของพิมเสน ๑ ตำลึง ซื้อเกลือได้หลายสิบถังทีเดียว ระหว่างเกลือกับพิมเสนนี้เกลือมีค่าน้อยกว่ามากมายนัก ดังนั้นจึงมีคำสุภาษิตไทยตราไว้ว่า
อย่าเอาพิมเสนมาแลกเกลือ
หมายความว่า พิมเสนราคาสูงกว่า ไม่ควรจะเอามาแลกกับเกลือ ซึ่งมีราคาต่ำกว่ามากมาย  ดังคำโคลงโลกนิติว่า
                พิมเสนมีรสเร้า                  เสาวคนธ์
ไปเกลือกกลั้วเกลือกล                       ใช่เชื้อ
เป็นไทยไป่ทำงล                                 งามชาติ ตนนา
คบทาสท่านจักเกื้อ                              กับหน้าตัวไฉน   
เมื่อว่าโดยทางที่เป็นอุปการะ คือ เป็นคุณแก่การดำรงชีพของคน ก็ต่างคนต่างมีไปคนละทาง ยามเป็นลมวิงเวียนคลื่นไส้อาเจียน ต้องใช้พิมสนขยี้ดม หรือผสมยารับประทานบรรเทาอาการวิงเวียนหายไปได้ เกลือไม่สำเร็จประโยชน์ในด้านนี้เลย แต่ในยามที่แกงเกิดจืดขึ้นมา คงไม่มีบ้านไหนเมืองไหนนำเอาพิมเสนใส่แกงเพื่อให้หายจืดเป็นแน่ ยามนี้ก็ต้องใช้เกลือ จึงได้มีคำสุภาษิตเปรียบเปรยมาแต่นานแล้วว่า   “แกงจืดจึ่งรู้คุณเกลือ”


กล่าวโดยทางที่เป็นอุปการะแก่คนว่า อะไรจะมากกว่ากันและบ่อยกว่ากันแล้ว พิมเสนเป็นแพ้เกลือแน่ทีเดียว เพราะคนใช้เกลือมากกว่าใช้พิมเสน บางบ้านอาจขาดพิมเสนได้ เพราะมิใช่ของใช้ประจำวัน แต่ทุก ๆ บ้านขาดเกลือไม่ได้เลย อาหารทุก ๆ มื้อของคนไม่พ้นรสเค็ม ซึ่งเป็นรสของเกลือไปได้ แม้แต่แกงที่เรียกกันว่า แกงจืดก็เถอะ ถ้าไม่มีรสเกลือเจือจานแล้วรับประทานไม่ลง
นี่เป็นเรื่องนิทัศนะของคุณค่า
อนึ่ง พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าเหลือที่จะคณนาได้ เพราะเป็นคุณที่สามารถนำสรรพเวไนยนิกรให้พ้นจากสรรพทุกข์ได้แท้จริง บรรดาสิ่งที่ปรากฏค่าในโลกนั้น ๆ หาได้เป็นสิ่งมีคุณค่าแท้จริงไม่ บางคราวสิ่งมีค่านั้น ๆ กลับเป็นภัยเป็นอันตรายแก่ผู้เป็นเจ้าของ ถึงต้องเสียชีวิต ก็มีหนักต่อหนักแล้ว ยิ่งกว่านั้นเล่า บรรดาสิ่งที่มีค่าในโลกนี้ยังมีวิบัติเข้าตัดรอนได้ในที่สุด แม้จะมีค่าสูงล้ำปานใดก็มิได้เป็นของผู้ใดได้ยั่งยืนตลอดกาล บางคราวสิ่งมีค่านั้น ๆ ละทิ้งเจ้าของไปเสียก่อนก็มี บางคราวเจ้าของทิ้งไปเสียก่อนก็มาก ตรงกันข้าม พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เป็นไปเพื่อความเดือดร้อน ไม่มีวิบัติมาตัดรอนได้ จึงเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า ล้ำเลิศประเสริฐสุด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่า   “เป็นบรมสมบัติ
ของโลกทีเดียว และเป็นบรมสมบัติชิ้นเดียวที่โลกมีอีกด้วย
ท่านแต่ก่อน ๆ ท่านเทิดทูนพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เท่า ๆ กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียว ทั้งนี้ท่านกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจวนจะปรินิพพานได้ตรัสกะพระอานนท์ไว้ว่า
โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา อานนท์ ธรรมและวินัยที่ตถาคตแสดงแล้ว บัญญัติไว้ จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อตถาคตล่วงลับไป

พระธรรมจึงมีค่าเท่ากับพระศาสดา ยิ่งกว่านั้นท่านยังเห็นความสำคัญถึงว่า พระพุทธวจนะแต่ละอักษรเป็นศาสดาองค์หนึ่ง ๆ ทีเดียว อักขระที่จารึกพระธรรมนั้น นับทั้ง ๓ ปิฎกท่านว่า ๔๐๐ โกฏิ กับ ๗๒ อักขระ เท่ากับพระศาสดา ๔๐๐ โกฏิ กับ ๗๒ องค์ บางทีจะเป็นด้วยรู้สึกตามคติธรรมดาที่ว่า สิ่งมีค่า ถ้ามีมากเกินไปก็เรียกว่า เฟ้อ แม้แต่วัตถุซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ประมูลค่า คือเงินตรา ถ้ามีมากเกินไป ก็เรียกว่าเงินเฟ้อ กระนั้นกระมัง หรือไม่ก็คงเป็นด้วยเห็นมากมายหลายโกฏิแล้วจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง ก็ยังเหลืออีกถมเถไป ตัดออกเสียบ้างก็ยังได้ จึงมีบางท่านในสมัยนี้ตัดทิ้งเสียบ้างเพราะเห็นเฟ้อ เมื่อเฟ้อก็ทำลายประโยชน์ของตนด้วย และบางท่านก็เห็นว่าเอาทิ้งน้ำเสียบ้างก็ได้ เช่น พระอภิธรรมปิฎกท่านว่าไม่สำคัญเลย เอาโยนน้ำเสียก็ได้ มีแต่พระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ก็พอแล้ว คิด ๆ ดูก็เข้าเค้าว่ามากเกินไป ทิ้งเสียบ้าง เพื่อให้เข้าระดับกับความต้องการ เลยนึกเรื่อยเฉื่อยไปถึงคราวหนึ่งมีหนังสือพิมพ์ลงกันเกรียวกราวว่า ประเทศหนึ่งเป็นประเทศปลูกกาแฟ คราวนั้นกาแฟเกิดมากจนเกิน

ต้องการแม้จะเป็นวัตถุมีค่า แต่เมื่อมากเกินไป ทำให้ค่าตกต่ำ เลยเอากาแฟไปทิ้งทะเลเสีย เพื่อพยุงค่าให้คงอยู่ คิดเรื่องนี้กับเรื่องที่ได้ยินว่า จะเอาพระอภิธรรมปิฎกโยนน้ำ ดูช่างละม้ายคล้ายกันจริง ๆ
แต่ในเมื่อพินิจตามสติปัญญาอันน้อยของผู้บรรยายแล้วก็รู้สึกว่า ความเห็นเป็นสำคัญในพระธรรมคำสอน หรือในพระไตรปิฎกนั้น ควรจะเป็นพื้นอัธยาศัยของพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพราะคิดไปถึงเรื่องการสร้างขึ้นกับการทำลายแล้ว ก็น่าใคร่ครวญไม่น้อย เช่น ตัวเราสร้างของเราเอง ก็ไม่น่าประหลาดอะไร แต่กระนั้นท่านก็ยังปรามไว้ ในเมื่อสร้างด้วยมือ แล้วจะไปรื้อด้วยเท้า ท่านว่าไว้ไม่ควร แต่ในเมื่อเราไม่ได้สร้างขึ้นมา และก็ไม่สามารถจะสร้างขึ้นได้ด้วย กลับจะไปรื้อไปทำลายเสีย ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย คือขี้เกียจศึกษาก็เผาตำราเสียเลย เช่นนี้ก็น่าตำหนิเป็นยิ่งนักแล
การดำรงสิ่งที่มีคุณค่าไว้ ย่อมเป็นการประกาศว่า เป็นผู้รู้จักของดีที่มีอยู่ หากไปทำลายเสียก็เท่ากับไม่รู้จักของดี ความไม่รู้จักของดีนั้น เป็นสภาพของใครบ้าง ก็สุดแต่จะคิดเห็น ชั้นชั่วที่สุดท่านก็เคยกล่าวเปรยไว้ว่า   “ยื่นมณีมีค่าให้วานร
สิ่งใดที่ยังไม่ทราบ ยังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด สิ่งนั้นจะเห็นว่าไร้ค่า เปล่าประโยชน์ ไม่เป็นการชอบ ไม่ยุติด้วยเหตุผล ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สมเด็จพระธีรญาณมุณี (ธีร์ ปุณฺณโก ป.ธ.๙) วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร) องค์ปัจจุบันได้เขียนโคลงไว้บทหนึ่ง น่าสนใจจริง ๆ คือ.-
สิ่งสุดสามารถใช้               ญาณตรอง
อย่าด่วนว่าล้วนผอง                          ผิดแล้
บางอย่างใช่วิสัยของ                          เราหยั่ง ถึงนา
อย่าทึกว่าเท็จแท้                  ทุกข้อที่ฉงน
ออกนอกเรื่องไปนิดหน่อย เพราะทางของความแวะเวียนไปทางนั้น ก็เลยชวนท่านไปชมสิ่งที่มีรายทางที่แวะเข้าไป โดยใจความนั้นก็เพื่อจะให้ท่านผู้สดับได้ทราบถึงเรื่องคุณค่า ว่าเป็นอย่างไร เป็นจุดสำคัญ.


ย้อนกลับ

Free Web Hosting