๒.  คน
ความจริงคำว่าคนนี้ ไม่น่าจะต้องนำมาบรรยายกันเลย เพราะทั้งผู้บรรยาย และผู้สดับต่างก็เป็นคนอยู่ด้วยกันแล้ว น่าจะเข้าใจเรื่องของคำว่าคนอยู่ด้วยกัน แต่ในที่นี้เห็นว่าจำเป็นอยู่บ้าง เนื่องด้วยหัวข้อเรื่องตั้งไว้ว่า ค่าของคน ซึ่งมีความว่า ค่านั้นเป็นของคน คนเป็นผู้มีค่า เพราะคนเป็นผู้มีค่า ค่าจึงเป็นของคน เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าไม่พิเคราะห์เรื่องคนกันเสียเลยแล้ว จะยากแก่การที่จะประมูลค่าและก็เป็นธรรมดาของการที่จะระบุค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป ต้องพิเคราะห์กันเสียก่อนอย่างถี่ถ้วน เหมือนจะซื้อวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง กว่าจะตกลงราคาไปได้ ก็ต้องพินิจพิเคราะห์กันถี่ถ้วน บางชนิดถึงต้องลองต้องฝน ตรวจตรากันพิถีพิถันแล้วจึงให้ราคาฉันใด เรื่องนี้ก็เป็นเช่นนั้น เหตุนั้นคำว่าคน ก็ควรจะได้พินิจพิเคราะห์ จึงขอบรรยายไว้ตามที่ได้ศึกษามา
อนึ่งเล่า ความคุ้นในสภาพที่เป็นอยู่ บางทีก็เป็นเครื่องกำบังมิให้ได้ทราบสภาวะที่แท้จริง เช่น เป็นคนก็ยากที่จะรู้สภาพของคน และในบางกรณีกลับเป็นเรื่องประหลาดน่าพิศวง บางครั้งก็ถึงความงงในสภาพของตัวเอง บางคนได้ศึกษาเล่าเรียนมา มีความรู้หลักวิทยาการมากมาย ครั้นมาถึงสภาพของตนเข้ากลับเป็นเรื่องที่ตนไม่รู้ เป็นเช่นนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยเลย จนอาจกล่าวได้ว่า
 “คนเอ๋ยคนช่างรู้                เหลือแสน
 สัตว์อื่นดื่นดินแดน                           พรั่นแพ้
 ช้างม้าฝึกตามแผน                             ขับขี่ สบายเฮย
 ยังแต่ตนนั่นแล้                                  ยากรู้ดูฉงน
ผู้บรรยายก็เคยจำนนต่อปัญหาง่าย ๆ ของตนเองมาแล้ว ในขณะที่กำลังเฟื่องฟุ้ง ได้เล่าเรียนศึกษา มีความรู้เปรื่องปราชญ์ในวิชาการที่ได้เล่าเรียน จนอาจพูดอาจคุยกับใคร ๆ ได้ ในเรื่องนั้น ๆ แต่ถูกท่านผู้ใหญ่ผู้หนึ่งกำราบเอาว่า
“อย่าเพิ่งทะนงไปนักเลย ในบัดนี้ก็ยังนับนิ้วไม่ถ้วนดอกกระมัง”
ยังเถียงเสียงแข็งเอากับท่านว่า  “สิบนิ้ว ทำไมจะนับไม่ถ้วน”
ท่านถามอีกทอดหนึ่งว่า   “สิบนิ้วมีกี่ข้อ”
เลยจำนน โทษถึงต้องนับ เป็นอันได้นับนิ้วมือถ้วนมาแต่นั้น คิด ๆ ก็พิกล เคยเห็นเคยดูกันมาทุกวันก็ว่าได้ แต่ไม่เคยได้ลองนึกนับดูสักที โบราณท่านจึงได้ว่า  “นับนิ้วมือไม่ถ้วน”  เป็นเรื่องมีได้  จริง ๆ ที่นำมาเล่านี้ บางทีก็จะมีเพื่อนบ้าง

อีกประการหนึ่งเล่า ที่ได้เล่าเรียนศึกษามาในทางพระศาสนา พอจะสรุปได้ว่า คำสอนของพระพุทธองค์นั้น ที่สูงสุด คือ เรื่องคนนั้นเอง ที่บรรลุมรรคผลก็เพราะทราบเรื่องคนอย่างแจ้งจบ ความรู้เรื่องคนจึงเห็นได้ว่า เป็นความรู้ยอดแท้ ไม่มีความรู้อะไรเกินไปกว่านั้นอีกแล้ว ที่รู้แล้วพ้นทุกข์ได้นั้น คือรู้

เรื่องคนนี่แหละไม่ใช่รู้เรื่องอื่น จะอ้างให้เห็นพอเป็นนิทัศนะสักข้อหนึ่ง คือที่ว่าบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น คืออย่างไร ? เขยิบปัญหาให้สูงขึ้นอีกก็ได้ ว่าที่เป็นพระพุทธเจ้านั้น คือตรัสรู้อะไร ? คำตอบคงลงกันว่า รู้อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค ทุกข์เป็นประการที่ต้นคืออะไร ? โดยรวบยอดคือ เบญจขันธ์, รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ประมวลกันก็เป็นก้อนที่สมมุติชื่อกันว่า คนนี้แหละ กิจของอริยสัจนั้น ก็คือต้องกำหนดรู้ ดังนั้น จึงได้กำหนดรู้คนนั้นแลหาใช่อื่นไม่
ตามเหตุที่ระบุมาเบื้องต้นนั้น พอจะประมวลกันเข้าเป็นกรณีแวดล้อม ให้เห็นความจำเป็นในการที่จะต้องพูดคำว่าคน แต่จะพูดในที่นี้เพียงอนุรูปแก่กระแสความในเรื่องค่าเท่านั้น ไม่สามารถจะแจงรายละเอียดกันได้ เพราะวิจิตรยิ่งนัก และก็ยากยิ่งด้วย ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ทางพระศาสนา โดยชื่อว่าพระอภิธรรมปิฎกมีข้อธรรมถึง ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ไม่ใช่อื่นเลยเรื่องของคนทั้งนั้น ดังนั้น จะนำมาบรรยายกันก็ไม่ไหวจนปัญญาจริง ๆ ที่จะกล่าวนี้เฉพาะที่พอจะเป็นแนวทางโน้มน้าวให้ได้หวนมาพิเคราะห์กันดูบ้าง ในฐานะที่เป็นคน อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง ความประสงค์มีเพียงเท่านี้
คำว่าคนนี้ ตามคัมภีร์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เก็บไว้ ๒ คำ คำหนึ่งเป็นกิริยาแปลว่ากวนให้ทั่ว พึงเห็นตัวอย่างเช่น คนหม้อข้าว คนหม้อแกง อีกคำหนึ่งเป็นนาม แปลไว้ว่ามนุษย์ คำนี้แลเป็นที่ประสงค์และเป็นคำตรงกับที่จะมุ่งกล่าว แต่เมื่อได้ค้นพบคำแปลของคนว่ามนุษย์แล้วเห็นได้ว่ายังไม่พอที่จะแก้สงสัยว่า คนคืออะไร ? หรือทำไมจึงเรียกคน ? จำต้องค้นต่อไป ในคัมภีร์พจนานุกรมฉบับนั้นได้ให้คำแปลว่า มนุษย ์ ก็ต้องค้นคำว่า มนุษย์ต่อไป เพื่อจะได้รู้ความพิเศษออกไปอีก ครั้นเปิดไปดูคำว่ามนุษย์ก็ได้พบว่าเป็นนามแปลว่า คน เป็นอันได้ความไว้ข้อหนึ่งว่า คนแปลว่ามนุษย์ และมนุษย์แปลว่าคน คนคือมนุษย์ และมนุษย์คือคน มนุษย์กับคนเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่มนุษย์ก็ไม่ใช่คน และไม่ใช่คนก็ไม่ใช่มนุษย์ หรือจะว่า อื่นจากมนุษย์ไม่เรียกว่าคน อื่นจากคนไม่เรียกว่ามนุษย์ ก็คงรวมอยู่ในมนุษย์กับคนเป็นอันเดียวกัน
ที่คัมภีร์พจนานุกรมให้ความหมายไว้เช่นนั้น เป็นเรื่องของภาษาศาสตร์ ซึ่งมีขอบเขตเพียงระบุความหมายของคำพูดคำหนึ่งให้เป็นที่แน่นอนลงไป ว่าคำนั้นมีความหมายอย่างไร เพื่อความสะดวกในการใช้ให้เป็นภาษา คำว่ามนุษย์กับคำว่าคนทั้งสองนั้น ท่านผู้สร้างก็ได้ระบุความหมายไว้แน่นอนดังที่ได้กล่าวมา นั่นคือหน้าที่ของพจนานุกรม แต่ที่จะบรรยายนี้ ต้องการจะตีราคาของคน จึงต้องพิเคราะห์กันในด้านอื่น ๆ อีกบ้าง เพื่อตรวจตรากันให้ถี่ถ้วนตามทางที่ควร ในเมื่อพิจารณาดูสภาพความเป็นไปของคนแล้ว ก็พอจะให้ความหมายของคำว่าคนได้ตรงกับสภาพดังนี้.-
คำว่า คน แปลว่า สัตว์ผู้ยุ่ง
ที่แปลข้างบนนี้ มิใช่การแปลเอาเองตามใจชอบ เป็นการแปลที่ได้ตรวจตราพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตรงกันกับสภาพของสังขารที่ระบุนามกันว่า   “คน”

อย่างแท้จริงและก็มิใช่เป็นการแปลลอย ๆ ปราศจากหลักฐาน มีหลักฐานยืนยันได้ ในบาลีสคาถวรรค สังยุตตนิกาย กล่าวถึงเทวดาองค์หนึ่งมาเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลถามปัญหาเป็นคาถา ดังนี้.-
อนฺโตชฏา พหิชฏา ชฏาย ชฏิตา ปชา
แปลว่า
หมู่สัตว์ถูกเครื่องยุ่ง ทำให้ยุ่ง ยุ่งทั้งภายใน ยุ่งทั้งภายนอก
                ตามนี้ระบุชัดว่า ในคนมีเครื่องยุ่ง เครื่องนั้นทำให้ยุ่ง คนเลยยุ่งกันใหญ่ ยุ่งทั้งภายใน คือภายในคนเองก็ยุ่ง ยุ่งทั้งภายนอก คือนอกออกไปจากตนของคน แต่เกี่ยวข้องกับคนก็ยุ่ง ยุ่งของคนนั้น ไม่มีอะไรเกินไปได้เลย ยุ่งแท้ ยุ่งจริง และสมกับจะเรียกคนว่าตัวยุ่ง ดังต่อไปนี้
อันอัตตภาพร่างกายที่กำหนดชื่อกันเป็นสามัญว่า
“คน”
มีขนาดตามที่นักปราชญ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นกำหนดไว้ว่า
“ยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ กว้าง ๑ ศอก”
หมายถึง วา คืบ และศอก ของตน ๆ เป็นคน ๆ ไป มีความสลับซับซ้อนเป็นยิ่งนัก ภายในบุคคลคนหนึ่ง ๆ กล่าวแต่เพียง
“รูป”
เท่านั้น ก็สลับซับซ้อนยุ่งเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะความแปรเปลี่ยนไปได้ต่าง ๆ ตามปัจจัยที่แวดล้อม ในพระคัมภีร์อภิธรรมมัตถสังคหะ ได้กล่าวถึงปัจจัยแห่งรูปไว้ ๔ ประการ คือ กรรม ๑ จิต ๑ อุตุ ๑ อาหาร ๑ ปัจจัยเหล่านี้แหละ ที่ทำให้รูปของคนแปรเปลี่ยนไปได้ จะว่ารูปเป็นสภาพคงที่แน่นอน เป็นอยู่อย่างใดก็อย่างนั้น ดังนี้มิได้เลย แม้ในบุคคลคนเดียวรูปก็ย่อมแปรเปลี่ยนไปได้ ตามปัจจัย ดังจะขอขยายความไว้โดยสังเขป พอเป็นนิทัศนะ และพอเห็นความแปรได้ง่าย ๆ
ปัจจัยที่ ๑ คือ กรรม แปลว่าการกระทำ หมายถึงการกระทำทุก ๆ อย่าง ตลอดถึงการงานต่าง ๆ ที่กระทำกันอยู่ทั่วไป จะเห็นความแปรของรูปได้เด่นชัด  ก็พึงดูรูปของผู้ที่ทำงานกรำแดดกรำฝน กับผู้ที่ทำงานภายในร่ม เช่นชาวนากับข้าราชการ รูปย่อมผิดแผกแตกต่างกัน พิจารณาเพียงส่วนเดียวคือมือก็เห็นได้ชัด มือชาวนากับมือข้าราชการต่างกันมาก แม้จะเป็นคนคนเดียวกัน ยามที่เป็นชาวนา จะมีมือด้านหนาหยาบ เพราะต้องจับเสียมจอบ จับคันไถ ต่อมาเปลี่ยนการงานมาเป็นข้าราชการ ความด้าน ความหนา ความหยาบ ของมือจะเปลี่ยนไปเป็นความนุ่ม  ความอ่อน ความละเอียด ทั้งนี้ก็แสดงว่ากรรมเปลี่ยนรูปได้

หน้าต่อไป


Free Web Hosting