ปัจจัยที่ ๒ คือจิต แปลกันง่าย ๆ ตามที่เข้าใจกันก็ว่าความนึกคิด หมายถึงความคิดต่าง ๆ ของคนแปรเปลี่ยนรูปของคนไปได้ต่าง ๆ ที่อาจพิจารณาเห็นได้ง่าย ๆ พึงดูดวงหน้า คนหนึ่งก็มีหน้า ๑ ตามปรกติ แต่ก็มีโวหารเรียกกันเป็นสำนวนว่า  “ตี ๒ หน้า”
หรือว่า   “คนหลายหน้า”
ทำไมจึงเรียกขานกันได้เช่นนั้น พิจารณาโดยละเอียด ก็จะเห็นได้ว่า เกิดจากความคิดนั่นเอง ทำให้คนมีหน้ามากกว่า ๑ ถึงกับโบราณได้กล่าวเป็นคติเตือนใจไว้ว่า
เห็นสิบหน้าอย่าเพิ่งว่าทศกรรฐ์ สิบหน้านั้นยังน้อยกว่าหน้าคน
ตามคติโบราณข้อนี้ สันนิษฐานได้ว่า คนมีหน้ามากกว่าทศกรรฐ์ ซึ่งมี ๑๐ หน้า เคยลองค้นคำ
“หน้า”
เฉพาะที่มีความหมายเกี่ยวกับความคิด ตามแนวที่โบราณได้วางหลักไว้คือ
ดวงหน้าเป็นคันฉ่องส่องดวงใจ
ได้หลายหน้าดูเหมือนจะครบ ๑๐๘ หน้า จดไว้แล้วแต่ไม่ทราบเอาซุกไว้ที่ไหน หาไม่พบ แต่ก็ไม่ยาก ลองนึกถึงคำไทย ๆ ที่ขึ้นต้นด้วย
“หน้า”
ก็คงจะนึกได้เยอะทีเดียว เช่น หน้าซีด หน้าแดง หน้าเขียว หน้าเหลือง หน้าด้าน หน้าหนา หน้าบึ้ง หน้าบูด หน้าบิด หน้าเบี้ยว หน้ายิ้ม หน้าแย้ม หน้าแจ่ม หน้าใส ฯลฯ ยังมีอีกมาก ไม่ต้องนำมาบันทึกไว้ ก็พอได้ หน้าที่เป็นต่าง ๆ นั้น ก็เป็นเพราะจิตนั่นแหละ จิตจึงจัดเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่แปรเปลี่ยนรูปได้
ปัจจัยที่ ๓ คือ อุตุ แปลว่า ฤดูกาล หมายถึงฤดูร้อน ฤดูหนาว ตามคราวเปลี่ยนของกาลเวลา หรือตามที่โลกสมมติว่า เป็นเขตแบ่งโลกโดยส่วนใหญ่ เป็นเขตร้อน เขตหนาว ซึ่งเป็นปัจจัยให้บุคคลมีรูปร่างแตกต่างกัน เช่น คนที่เกิดในเขตหนาว จะมีรูปร่างเป็นอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันกับคนที่เกิดในเขตร้อน อนึ่ง คนที่เกิดในเขตหนาวมาอยู่ในเขตร้อน รูปก็เปลี่ยนไป เช่นเดียวกัน คนที่อยู่ในเขตร้อนไปอยู่ในเขตหนาว ก็จะมีรูปเปลี่ยนไป และแม้ในเขตนั้น ๆ เอง เมื่อเปลี่ยนฤดูกาลบุคคลก็ย่อมมีรูปเปลี่ยนไป เช่น เมืองไทยนี้เอง ก็ยังมีฤดูที่เปลี่ยนรูปของบุคคลได้ ดังมีคำเล่าแนะไว้ข้อหนึ่งว่า
ดูช้างดูหน้าหนาว ดูสาวดูหน้าร้อน

อันมีอธิบายว่า การดูสีของช้างนั้น ทราบว่าเป็นสีขาว คือเป็นช้างเผือกหรือมิใช่ ให้ดูหน้าหนาว ทั้งนี้เพราะนางช้างซึ่งเป็นแม่ของช้างเผือกนั้นมักจะเคี้ยวใบไม้พ่นตัวลูกช้างเผือก เพื่อพรางตาคน แต่ในฤดูหนาว เมื่อลูกช้างถูกพ่นก็จะรู้สึกหนาวเย็น จึงมักจะเอาตัวสีกับต้นไม้ ทำให้สีที่พรางนั้นล่อนออกไปเห็นสีกายที่แท้จริง ส่วนว่าดูสาวให้ดูหน้าร้อน หมายถึงการดูไฝ ดูลักษณะ ตามที่ระบุไว้ในตำรานร

ลักษณ์โบราณเช่น ฝีจักร หยักหล่ม หากดูในหน้าหนาวจะเห็นได้ยาก แม้ในส่วนของร่างกายที่เปิดเผยได้ ก็จะถูกปกปิดด้วยผ้า เพื่อป้องกันความหนาว แต่ถ้าเป็นฤดูร้อน การปกปิดร่างกายจะผ่อนเพลา คือปิดเฉพาะบางส่วน และเปิดเผยส่วนที่ไม่น่าละอาย ก็จะทำให้เห็นลักษณะดีหรือไม่ดีชัดเจน นี่ก็แสดงว่า ฤดูกาลก็เป็นปัจจัยเปลี่ยนแปลงรูปของคนได้
ปัจจัยที่ ๔ คืออาหาร แปลว่าสิ่งที่นำมา ถือเอาความตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไป
“ของกิน”
ข้อนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนรูปของคน จะขออธิบายเฉพาะสิ่งที่เห็นได้ทั่ว ๆ ไป คือว่าเรื่องของกินนั้น ในปัจจุบันนิยมพูดกันว่า
“กินเรื่องใหญ่”
และมีข้อความลดหลั่นตามลำดับว่า
“ตายเรื่องกลาง ติดตารางเรื่องเล็ก”
เรื่องหลังไม่อยู่ในข่ายที่จะบรรยาย ไม่ขอพูดถึง ขอพูดแต่เรื่องกิน โดยประสงค์
เรื่องกินนั้นตามคติของไทย ใช้เป็นเครื่องแบ่งฐานะของคนๆได้ คือผู้มีฐานะดี เรียกว่า
“ผู้มีอันจะกิน”
เมื่อกำหนดฐานะในเรื่องกินอย่างนี้ ฐานะที่ลดหลั่นลงมาก็ใช้เรื่องกินกำหนดได้อีกถึง ๓ ระดับ คือ ผู้ไม่มีอันจะกิน, ผู้ไม่มีอันใดจะกิน, และ ผู้มีอันจะไม่ต้องกิน รูปของบุคคลในระดับต่าง ๆ นั้น ย่อมต่างกันทั้งนั้น แม้จะเป็นบุคคลคนเดียวกัน ยามหิวกับยามอิ่มก็ย่อมมีรูปต่างกัน ฉะนั้น อาหารจึงเป็นปัจจัยให้รูปเปลี่ยนแปลงได้
ตามแนวนี้จะเห็นถึงความสลับซับซ้อนของร่างกายคนเรา ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น ยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ กว้าง ๑ ศอก ไม่ใหญ่โตเท่าไหร่เลย แต่ในคนนั้นมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนเป็นอันมาก ยิ่งกว่านั้นความยุ่งนั้นยังมีใน เรียกว่ายุ่งภายใน และมีนอก เรียกว่ายุ่งภายนอก ดังจะขอบรรยายเป็นลำดับต่อไปนี้

ยุ่งภายในนั้น หมายความว่าในคนนั้นเองก็ยุ่ง กล่าวคือ ในร่างกายของคนเรานั้นมีอวัยวะสำคัญที่จะติดต่อกับสิ่งภายนอก ๖ อย่างด้วยกัน คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ เรียกว่า อายตนะ ทั้ง ๖ อย่างนี้ ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ของตน ๆ เป็นการประจำ และต่างก็เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๆ จึงเรียกว่าอินทรีย์ แปลว่าเป็นใหญ่ หมายถึงเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน เช่นตาเป็นใหญ่ในหน้าที่ดู หูเป็นใหญ่ในหน้าที่ฟังเป็นต้น ต่างคนต่างเป็นใหญ่ ไม่มีใครเหนือใคร และไม่มีใครรองใคร จะสั่งกันไม่ได้ จะบังคับกันไม่ได้ และจะทำหน้าที่แทนกันบ้างในบางคราวก็ไม่ได้ เช่นตาเจ็บ จะให้หูดูแทนตาก็ไม่ได้ หรือหูเจ็บฟังไม่ได้ยิน จะให้จมูกฟังแทนก็ไม่ได้ หน้าที่ใครหน้าที่มันเช่นนี้ คิดแต่เพียงเผิน ๆ ก็ไม่น่าจะยุ่งอะไร แต่ถ้าคิด

โดยอุปมาว่า มีบ้านหลังหนึ่ง มีคนอยู่ร่วมกัน ๖ คน แต่คนทั้ง ๖ นั้น ต่างก็เป็นใหญ่ทั้งนั้น ไม่มีใครเหนือใคร ไม่มีใครรองใคร ไม่มีใครมีอำนาจกว่าใคร ต่างคนต่างมีหน้าที่ของตน ๆ ไป ใช้กันไม่ได้ ล่วงล้ำก้ำเกินกันไม่ได้ เช่นนี้ บ้านนั้นจะเป็นอย่างไร ดูจะยุ่งพิลึกทีเดียว
อนึ่งเล่า อายตนะทั้ง ๖ นั้น ท่านยังกล่าวอุปมาไว้เหมือนสัตว์ ๖ อย่าง คือ ตาเปรียบเหมือนงู วิสัยงูย่อมพอใจที่จะเลื้อยเข้ารู อันเป็นที่ลับเร้น ตาก็เช่นนั้น พอใจจะสอดดูสอดเห็นทำนองเดียวกัน หูเปรียบเหมือนจระเข้ วิสัยจระเข้ย่อมพอใจวังน้ำเย็นน้ำลึก ไม่ถูกรบกวน หูก็เช่นนั้น พอใจจะได้ยินเสียงซึ่งเย็นและไม่ระคาย จมูกเปรียบเหมือนนก วิสัยนกย่อมพอใจโผผินบินร่อนในอากาศ จมูกก็เช่นนั้น ชอบอากาศที่แจ่มใสสดชื่น ลิ้นเปรียบเหมือนสุนัขบ้าน วิสัยสุนัขบ้านย่อมพอใจหมกมุ่นอยู่ใต้ถุนครัวเป็นแดน เพื่อลิ้มรสอาหารเปรี้ยวหวานมันเค็มที่ตกลงมา ลิ้นก็เช่นนั้น ชอบรสเปรี้ยวหวานมันเค็ม กายเปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอก วิสัยสุนัขจิ้งจอกพอใจอยู่ป่าช้า หมกมุ่นอยู่กับซากผี กายก็เช่นนั้น ต้องการสัมผัสกับที่นุ่ม ๆ อยู่เรื่อยไป ใจเปรียบเหมือนวานร วิสัยวานร ย่อมพอใจป่ายปีนต้นไม้ไม่ค่อยหยุดนิ่ง ใจก็เช่นนั้นชอบจะป่ายปีนไม่ค่อยจะหยุดนิ่ง แม้นถูกบังคับให้หยุดนิ่ง ก็คอยจะดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไป สมมุติว่ามีกระดานแผ่นหนึ่ง นำสัตว์ทั้ง ๖ มาผูกไว้ร่วมกันที่กระดานนั้น จะเห็นได้ว่าแผ่นกระดานนั้นถูกฉุดถูกรั้งถูกดึงอย่างชุลมุนทีเดียว งูจะลากลงรู จระเข้จะดึงลงน้ำ นกจะพาขึ้นอากาศ สุนัขบ้านจะรั้งเข้าใต้ถุน สุนัขจิ้งจอกจะดึงออกป่าช้า วานรจะพาขึ้นต้นไม้ ยุ่งกันพิลึก อัตตภาพเปรียบเหมือนแผ่นกระดานนั้น ถูกผูกไว้ด้วยอายตนะ ๖ อันเปรียบเหมือนสัตว์ทั้ง ๖ ต่างดึงต่างฉุดต่างรั้ง คิดดูแล้วยุ่งไม่ใช่น้อย แต่เป็นเพราะความคุ้นเคยกันมานาน จึงไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นความยุ่ง อย่างที่ว่า
เคยแล้วสบาย
ยุ่งภายนอกนั้น หมายความว่าเรื่องของคนเราแล้วเป็นเรื่องยุ่งที่สุด ไม่มีเรื่องของใครจะยุ่งเท่าเรื่องของคน เพียงเรื่องกินเรื่องเดียวเท่านั้น ก็ยุ่งกันเป็นหนักเป็นหนาจับบทยุ่งไปตั้งแต่คำว่า กิน ทีเดียว (เห็นจะยุ่งเฉพาะคนไทย) เพราะคำว่ากินนี้ยุ่งไม่น้อยเลย เคยได้ฟังเรื่องคนต่างภาษาต้องการจะรู้ภาษาไทยให้ซาบซึ้ง ได้เริ่มต้นศึกษามาพอฟังสำเนียงได้แล้วยังแต่จะบันทึกความหมายเท่านั้น ในเรื่องคำว่า กิน ได้บันทึกไว้จากผู้เป็นครู สามัญใช้คำว่า กิน สูงขึ้นไปว่า รับประทาน เจ้านายใช้ว่า เสวย พระว่า ฉัน ๔ คำแล้ว ต่อมาได้ยินพูดกันว่า   “ไง ว่าข้าวแล้วหรือ”
ถามคนไทยว่า หมายความว่าอย่างไร ตอบว่า   “ว่าข้าว คือ กินข้าว”
จดไว้ ว่า แปลว่า กิน ต่อไปได้ยิน   “แดกข้าวเสียซิ”
ถามอีก และต้องจดอีก   “แดก แปลว่า กิน”
ต่อไปได้ยิน   “ยัดข้าวเสียซิ”
ถามอีกจดอีก หนักเข้าผู้เรียนถามว่า   “หมดหรือยัง คำว่ากิน”

ตอบว่ายัง  ผู้เรียนสั่นเศียร อุทานว่า   “โอ โอ ยุ่งจริง”   เพียงคำว่ากินก็เริ่มยุ่งเสียแล้ว
มาถึงเรื่องของกิน ยุ่งกันอีก ยุ่งเอามาก ๆ ทีเดียว ลองคิดในเรื่องของกินของคนกับบรรดาสัตว์ในโลกดูแล้วจะเห็นว่า ไม่มีของกินของสัตว์จำพวกไหนจะยุ่งเท่าเรื่องของคน คนเรากินหลายอย่าง ลองประมวลของกินของคนเข้าเป็นหมวดใหญ่ ๆ ก็เห็นจะได้ ๔ หมวด ซึ่งเรียกว่า   “เครื่อง”
ให้เข้าชุดกัน คือ เครื่องกิน ๑ เครื่องดื่ม ๑ เครื่องสูบ ๑ เครื่องว่าง ๑
เครื่องกิน หมายถึงอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นเลือดเป็นเนื้อ หล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ ให้เคลื่อนไหวไปมาได้ ให้ประกอบการงานได้ ได้แก่ข้าว และกับข้างต่าง ๆ มีต้ม มีแกง มีผัด มียำ มีปิ้ง มีย่าง มีคาวมีหวาน และจะกินอะไรซ้ำ ๆ กันนาน ๆ ก็ไม่ได้ เบื่อ ต้องยักไปอย่างนั้น ย้ายไปอย่างโน้น ตรงกับคำของนางพิมในเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ว่า
                                                ต้มแกงแต่งเจียวทั้งปิ้งจี่
        เซ้าซี้สารพันทั้งมันหวาน
                      เลือกดิบเลือกสุกทุกประการ
                      ถ้าซ้ำสิ่งใดนานก็เบื่อไป
เครื่องดื่ม หมายถึงชนิดของที่จะนำมาป้อนปากด้วยกิริยาดื่ม เพราะเป็นวัตถุเหลว เป็นประเภทน้ำ มีน้ำชา กาแฟ น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำอัดลม ที่สุดจนน้ำเมา นี้เป็นจำพวกเครื่องดื่ม
เครื่องสูบ มีบุหรี่ซึ่งแยกประเภทใหญ่ ๆ ไว้ว่า ควันหยาบ และควันละเอียด มีมากมายหลายชนิดด้วยกัน ที่สุดจนกัญชา ยาฝิ่น เป็นจำพวกเครื่องควันทั้งนั้น
เครื่องว่าง เครื่องนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า เป็นคำนาม แปลว่า อาหารนอกเวลาประจำ ตามความนั้นคงจะให้กินความได้ถึงของกินของเคี้ยวที่กินนอกเวลาเช้า กลางวัน และเย็น แต่ตามความเห็นของผู้บรรยายเห็นว่าที่เรียกว่าเครื่องว่างนั้น น่าจะแปลได้ตรง ๆ ว่า   “เครื่องกันปากว่าง”
ตรงกับคำกลอนที่อ้างตำราจีนว่า “ตำราจีนเขาว่ากินแต่ยอดอ้อย ยังอร่อยมากกว่าปากเปล่า”
เพื่อจะไม่ให้ปากอยู่ว่าง ๆ เปล่า ๆ จึงต้องมีมากอยู่เหมือนกัน ขนิดเกล็ดเช่นเมล็ดแตงโม เปลือกมากว่าเนื้อ และมักทำเกลื่อนทำรกได้มาก ๆ เครื่องอมมีเมี่ยงและหมาก หมากนั้นยังมีหมากไทย หมากฝรั่ง หมากไทยจะเสียเปรียบหมากฝรั่งบ้างกระมัง เพราะหมากไทยเคี้ยวบ้วนทิ้ง น้ำหมากพาเปรอะเปื้อนรำคาญเอาการเหมือนกัน หมากฝรั่งเคี้ยวกลืนน้ำ แต่ชานคายทิ้งเหนียวสำคัญ เด็ก ๆ ชอบเคี้ยว แล้วก็กลืนชานลงไปติดคอ ทำท่ากระอึกกระอัก พิพักพิพ่วน น่ากลัวอันตราย และทำให้รำคาญได้มาก ๆ
รวมเครื่องต่าง ๆ ที่จัดเป็นของกินเข้าด้วยกันเป็น ๔ เครื่อง คือ เครื่องกิน, เครื่องดื่ม, เครื่องสูบ, และ เครื่องว่าง แต่ละเครื่อง มีบริการใหญ่โตมโหฬาร เป็นโรงงานมหึมาทั้งนั้น ยุ่งไม่ใช่น้อย ยุ่งมากทีเดียว

มีอุบาสกท่านหนึ่ง มาพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับกินของตนแล้ว ถึงกับตั้งปณิธานทุกขณะที่บำเพ็ญกุศลว่า
“ถ้าข้าพเจ้าจะได้มาเกิดในโลกนี้อีกแล้ว ให้เกิดเป็นควายเถิด อย่าให้เกิดเป็นคนเลย”
มีผู้ถามถึงเหตุผลที่ปรารถนาเช่นนั้น ท่านตอบว่า
“ควายมันกินแต่หญ้าอย่างเดียว คนเรานี่ยุ่งมาก เดี๋ยวจะกินอ้ายโน่น เดี๋ยวจะกินอ้ายนี่ สรรแต่เรื่องกินอย่างเดียว จนน่าเวียนหัว กว่าจะได้กินแต่ละทีเล่า ต้องตั้งพิธีประชุมธาตุทั้ง ๔ หุงต้ม แกง เจียว ผัด ยำ ยุ่งเหลือเกิน เป็นควายดีกว่ากินแต่หญ้าไม่ต้องยุ่ง”
ถูกค้านอีกว่า   “เป็นควายก็รังแต่เขาสนตะพายเทียมแอกเทียมไถเทียมเกวียน จะดีอะไร”
ท่านเถียงว่า   “ถึงอย่างนั้น มันก็มีงานด้านเดียว หน้าไถ หน้าเกี่ยวก็งานหนักหน่อย หมดหน้านั้น ๆ แล้ว เจ้าของก็ปล่อย ยิ่งตัวไหนทำงานให้เจ้าของดี ๆ ไม่ดื้อไม่เก เจ้าของก็ยิ่งกรุณาเป็นพิเศษ งานของควายมันงานหน้าเดียวไม่ยุ่งยากอะไร งานของคนยุ่งเป็นที่สุด ควายมันลากไถยังมีเวลาปลด ได้ผลัดได้พัก แต่งานของคน ไม่มีเวลาได้รับการปลดปล่อยเลยตลอดชาติ เพราะฉะนั้นเกิดเป็นควายสบายกว่า”
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เจ้าคุณอาจารย์ของผู้บรรยายได้เคยไปพูดจาเพื่อให้ถอนความคิดเห็นเช่นนั้นเสีย แต่ผลที่สุดจะเป็นอย่างไร จะถอนความคิดเห็นของท่านผู้นั้นได้หรือไม่ไม่ทราบ
ท่านผู้สดับได้ฟังคำว่า คน แปลว่าสัตว์ผู้ยุ่ง ตามเหตุผล และตามนิทัศนะที่นำมาบรรยาย อาจเห็นว่าผู้บรรยายเป็นแต่เพ่งแต่แง่ร้าย ตามที่บัญญัติเป็นศัพท์ว่าทุนิยม ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเลย โปรดอย่าเห็นว่าเพียงแต่แปลคนว่าสัตว์ผู้ยุ่งแล้ว ปรับโทษขนาดทุนิยมเลย เพราะผู้บรรยายเองก็หนีไม่พ้นไปจากคน คงเป็นคนและคงเป็นสัตว์ผู้ยุ่งด้วยผู้หนึ่ง และก็ยังภูมิใจอยู่บ้างว่า เพียงแต่ยุ่งเท่ายุ่งเท่านั้นยังพอแก้ไข มีทางจะสะสางความยุ่งของตนได้ เพราะเป็นเรื่องชั้นเดียว กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ถึงจะยุ่งก็ยุ่งอยู่ในขอบเขต หรือยุ่งเป็นระเบียบ ยุ่งอย่างนี้เรียก ยุ่งไม่ยาก คือยุ่งกับเขาเหมือนกัน แต่ที่ยุ่งนั้นไม่ยาก ไม่มีความยากผสมกับความยุ่ง ส่วนยุ่งอีกชนิดหนึ่งนั้น เป็นการยุ่งไม่มีขอบเขต ยุ่งไม่เป็นส่ำ หรือยุ่งไม่เป็นระเบียบ ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายแก่เพื่อนบ้าน เบียดเบียนกดขี่ข่มเหงให้ได้รับความลำบาก ยุ่งอย่างนี้เรียกว่า ยุ่งยาก คือ ไม่แต่เพียงยุ่งเท่านั้นแถมยากอีกด้วย พวกยุ่งยากนี้ จะแก้ไขต้องแก้ถึง ๒ ขั้น แก้ยากเสียก่อน แล้วถึงแก้ยุ่งได้ ซึ่งการแก้ยากนั้นบางทีต้องใช้โซ่ใช้ตรวนแก้กันทีเดียว พวกยุ่งยากขนาดนั้นต้องนำไปเก็บรักษาไว้เป็นพิเศษ และต้องระวังกันอย่างแข็งแรงอีกด้วย ดังนั้นเพียงแต่ยุ่งอย่างเดียวไม่กระไรหนักหนา ขอแต่ว่ายุ่งอยู่แล้วอย่านำเอาความยากมาผสมเข้าไปอีกก็แล้วกัน ยุ่ง ๆ กันไปอย่างเราท่านทุกวันนี้ยังเป็นการยุ่งที่มีขอบเขตอยู่ หรือยุ่งกันไปตามประสา ทำมาหากินกันยุ่งไป ไม่ใช่เป็นการเสียหาย ดูแต่เส้นผมเถิดที่เขาดัดยุ่ง ๆ แต่มีระเบียบ ก็ยังน่าดูมิใช่หรือ.

ย้อนกลับ


Free Web Hosting