๔.      มูลค่าของคน
คำว่ามูลค่าได้บรรยายมาแล้วว่า หมายถึงราคาดั้งเดิมหรือราคาทุน ที่ใช้กับสินค้า แต่เมื่อปรับเข้ากับคนความหมายก็มีว่า ราคาดั้งเดิมหรือต้นทุนของคน มีอย่างไรบ้าง หรือมีอะไรกันบ้าง การจะกำหนดราคาทุนของคนลงเป็นวัตถุเครื่องแลกเปลี่ยนอย่างสินค้านั้น ย่อมเป็นการยากไม่น้อย เพราะถ้าคิดค่าที่ต้องใช้จ่ายในการเลี้ยงดูก็ดี ในการทะนุบำรุงก็ดี เป็นการยากแก่การกำหนดทั้งนั้น ทั้งนี้เพราะวัตถุที่ใช้ในการเลี้ยงดู ในการทะนุบำรุงย่อมมีค่าต่างกัน เช่น บางคนเติบโตมาจากนมของมารดา กล้วยน้ำว้าบดกับข้าว หรือน้ำข้าวผสมกับน้ำตาลทราย ดังนี้ก็มี บางคนไม่ต้องดื่มนมมารดา คลอดออกมาก็ดื่มนมข้นแทน นมข้นนั้นเล่าก็ยังมีชนิดราคาต่ำ ราคาสูง ต่างกันอีก ดังนั้นเรื่องค่าเลี้ยงดู ค่าทะนุบำรุง จึงกำหนดลงไปเป็นการยาก เพียงประการเดียว คือ น้ำนมของแม่ ก็กำหนดราคาไม่ถูกเสียแล้วว่ามีราคาเท่าไร ถ้าจะกำหนดก็ต้องว่า หาค่ามิได้ จึงสมควร ดังนั้น ความหมายในเรื่องมูลค่าของคนในที่นี้จึงมิได้เพ่งเล็งถึงราคาดังกล่าวนั้น หากแต่มุ่งจะกล่าวว่า ในอัตตภาพของคนเรานี้มีชิ้นส่วนอะไรบ้าง และเมื่อประมวลกันแล้วจะพึงเทียบวัตถุต่าง ๆ ที่มีค่าได้อย่างไรเพียงไร จะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อมก็สุดแต่กระแสความ เช่น จะกล่าว่าคนนั้น คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ และธาตุ ๔ ประชุมกัน ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๔ เป็นต้นทุนของคนดังนี้เป็นต้น โดยทำนองเดียวกัน อาจมีอื่น ๆ ที่ระบุว่าเป็นส่วนผสมดั้งเดิมของคน ก็ขอกำหนดให้เป็นมูลค่าของคนเช่นเดียวกัน
ส่วนผสมต่าง ๆ ที่ประมวลกันเข้าเป็นคน ท่านกล่าวว่าไว้หลายนัย บางแห่งท่านว่า ขันธ์ ๕ เช่นพระบาลี ว่า
ยถา หิ องฺคสมฺภารา                         โหติ สทฺโท รโถ อิติ
เอวํ ขนฺเธสุ สนฺเตสุ                            โหติ สตฺโตติ สมฺมติ
  เหมือนคุมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เสียงว่ารถย่อมมี ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่สมมติว่า สัตว์ย่อมมี ฉันนั้น
บางแห่งท่านก็ว่า ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ อายตนะ ๖ ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะนั้น เป็นเรื่องสุขุมคัมภีรภาพเหมาะแก่การศึกษาอย่างถี่ถ้วน ไม่เหมาะสำหรับจะนำมาบรรยาย เพราะเพียงแต่บรรยายในเวลาอันสั้น ผู้บรรยายไม่สามารถที่จะประมวลกล่าวได้โดยละเอียด ถึงกับจะทำให้เกิดความเข้าใจได้แจ่มแจ้ง จึงขอระงับไว้ บรรยายโดยปริยายอื่นที่พอจะกำหนดได้

คติโบราณของไทย ท่านระบุพระคุณของบิดามารดาไว้เป็นจำนวนเลขที่น่าคิด คือ พระคุณของบิดา ๒๑ พระคุณของมารดา ๑๒ รวมพระคุณ ๒ ท่านเป็น ๓๓ ตัวเลข ๓๓ นี้ เห็นว่ามิใช่อื่นเลย เป็น

ต้นทุนของคนแต่ละคนนั่นเอง แต่ว่าต้นทุนนี้ มิใช่ราคาที่กำหนดในการค้า เป็นตัวเลขที่ระบุจากส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นคนแต่ละคน
อันคนเราที่เกิดมาในโลกนี้ จะว่าเกิดด้วยอย่างไรก็แล้วแต่จะว่ากันไป ตามความเห็นของผู้บรรยายและตามที่ปรากฏนั้น เกิดด้วยบิดามารดาเป็นแน่นอน พระพุทธองค์ตรัสว่าบิดามารดาเป็น พรหม ของบุตร ถ้าจะเข้าใจว่า พระพรหมเป็นผู้สร้าง ก็จะว่าบิดามารดาเป็นผู้สร้างเห็นจะไม่ผิด เพราะคนทุกคนที่เกิดมาในโลก เกิดจากบิดามารดาด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเกิดโดยปราศจากบิดามารดา แม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังมีบิดามารดา ดังนั้น ชิ้นส่วนที่ประกอบต่าง ๆ ของคนนั้น ก็คงได้จากบิดามารดา  พระคุณของบิดามารดานั้นจึงมิใช่อื่น เป็นชิ้นส่วนที่ท่านให้แก่บุตรของท่านนั่นเอง
บิดาให้ ๒๑ ส่วน คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, ไต, พังผืด, ปอด, ไส้ใหญ่, ไส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, เยื่อมันสมอง, และ ชีวิต รวม ๒๑
มารดาให้ ๑๒ ส่วน คือ ดี, เสลด, น้ำเหลือง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, น้ำตา, มันเหลว, น้ำลาย, น้ำมูก, ไขข้อ, และ มูต รวม ๑๒
รวมเข้าทั้ง ๒ ส่วน คืออาการ ๓๒ และชีวิตอีก ๑ เป็น ๓๓ เป็นชิ้นส่วนที่ประมวลกันเข้าเป็นสรีระร่างของคน

ส่วนต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นส่วนประกอบที่ได้มาจากบิดามารดาแท้ ดังนี้แหละท่านจึงได้กล่าวว่าพระคุณของบิดามารดานั้น สุดที่จะทดแทนให้คุ้มได้ ทั้งนี้เพราะท่านได้เป็นผู้สร้างเรามาแล้ว แต่เราไม่มีโอกาสเลยที่จะสร้างท่านได้ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ท่านมอบให้เรามานี้เราจะนำไปคืนท่านได้อย่างไร เป็นหมดหนทาง ไม่ต้องว่ากันถึงว่าจะคืนทุก ๆ ส่วน เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็ยากเสียแล้ว ยกขึ้นมากล่าวสักส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนแรกคือผม ที่คุณพ่อท่านให้เรามานี้ ครั้นล่วงกาลนานไป ผมของบิดาเกิดมีอันเป็นไป เช่น บางลงไป น้อยจนเกินไป เราคิดจะสนองพระคุณท่าน จะนำผมของเราไปติดให้ท่าน คือเราจะคืนท่านสักอย่างหนึ่ง เพียงเท่านี้ก็ไม่มีทางจะกระทำได้เสียแล้ว มาในยุคปัจจุบันนี้ความเจริญในทางวิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้ามากขึ้น ทางที่บุตรจะสนองพระคุณบิดามารดา ก็ปรากฏขึ้นเป็นบางประการ นั่นคือการถ่ายโลหิตให้แก่กัน บุตรอาจถ่ายเลือดของตนชดใช้แก่บิดามารดาได้ ในโอกาสที่ท่านต้องประสงค์ เช่นเลือดของท่านออกมากไป ถูกของมีคมบาดเลือดออกมาก ถ้าไม่ได้เลือดช่วยก็คงเสียชีวิต บุตรมีทางสนองด้วยให้เลือดของตนแก่ท่าน แต่ตามหลักวิชาบังคับว่า ต้องเป็นเลือดชนิดเดียวกันและต้องเป็นเลือดบริสุทธิ์ บุตรบางคนอาจมีเลือดคนละชนิดกับบิดามารดาก็ได้ เป็นอันชวดโอกาสที่จะสนองได้ หรือแม้จะเป็นเลือดชนิดเดียวกันแต่บุตรบางคนเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้นเที่ยวซุกซนไปกระทำให้เลือดของตนเกิดความไม่บริสุทธิ์ ซึ่งภาษาทางแพทย์เรียกว่า เลือดมีผลบวก เป็นบวก

๒ บ้าง บวก ๔ บ้างเลยชวดโอกาสอีก เพราะอย่างนี้แหละจึงใช้หนี้ท่านไม่หมดจริง ๆ พระคุณของท่านล้นเหลือที่ให้กำเนิดเรามา เราจะหาที่ไหนมาใช้ท่านได้ถึง ๓๓ ส่วน เพียงส่วนเดียวก็ยังยากเสียแล้ว
ต้นทุนของคนที่เกิดมานั้น แรกเริ่มก็มีเท่านี้ มี ๓๓ ส่วน ที่คุณพ่อคุณแม่ให้มาเท่านี้ ไม่มีอะไรที่เป็นสมบัติติดตัวมาอีกเลย ทุก ๆ คนมีเท่านี้แท้ ๆ ดังนั้นต้นทุน หรือมูลค่าของคนที่เป็นดั้งเป็นเดิมนั้น มี ๓๓ เท่านี้เอง
เมื่อเกิดมาแล้ว ความเป็นอยู่ย่อมเกี่ยวเนื่องด้วยระยะกาล คือ ความหมุนเวียนแห่งพิภพบรรจบรอบครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง เป็นวัน เดือน ปี การกำหนดว่าใครเกิดมาได้เท่าไรวัน เท่าไรเดือน เท่าไรปี มีบัญญัติเรียกว่าอายุ อายุนี้ก็มีเกณฑ์สิ้นสุดที่กำหนดไว้เรียกว่า ขัย แปลว่า สิ้น หมายถึงระยะกาลที่จะสิ้นอายุของคนในยุคนั้น ๆ เช่นในปัจจุบันนี้ท่านว่า ๑๐๐ ปีเป็นขัย หมายถึงว่าคนเราอาจมีอายุอยู่ได้ ๑๐๐ ปีจึงจะสิ้นอายุ แต่ไม่ถึงเสียแลมากกว่ามาก ที่ถึงนั้นน้อย ที่เกินไปไม่ค่อยจะมีเอาทีเดียว จึงเป็นแต่กำหนดไว้เพียงให้ทราบว่า ความทนทานของคนยุคนี้ อยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปี เหมือนการกำหนดอายุของวัตถุบางอย่างว่า มีอายุถึงเท่านั้นเท่านี้ ถ้าใช้ไม่ดีอาจหมดอายุก่อนก็ได้ ถ้าใช้ดีอาจเกินกว่ากำหนดก็ได้ ร่างกายนี้ก็เช่นนั้น กำหนดไว้ ๑๐๐ ปี ถ้าไม่รู้จักถนอมอาจไม่ถึงก็ได้ ถนอมดีอาจเกินก็ได้ จะว่าเป็นต้นทุนในเรื่องเกี่ยวกับอายุของคนก็ไม่มีผิด แต่ได้พบอีกตำราหนึ่ง กล่าวถึงต้นทุนแห่งอายุของคนว่า มีเพียง ๓๐ ปีเท่านั้น ตำรานี้กล่าวเป็นนิยายน่าสนใจไม่น้อย จำได้ว่าเป็นของท่านพุทธทาส หากผิดไปก็โปรดอภัย เรื่องมีดังนี้
คราวที่พระเป็นเจ้าเริ่มสร้างมนุษย์ขึ้นในโลกนั้นได้ทรงพิจารณาเป็นหนักหนาว่า จะควรให้มนุษย์มีอายุอยู่ในโลกสักกี่ปี จึงจะไม่เป็นการทรมานมนุษย์เกินไป เพราะการถือกำเนิดในโลกนั้น เป็นภาวะที่ไม่น่านิยมชมชื่นสำหรับพระเป็นเจ้าเลย ไม่เป็นการสมควรจะให้มนุษย์อยู่ในโลกนานเกินไป พระเป็นเจ้าดำริรอบคอบแล้ว เห็นว่า ๓๐ ปีเป็นพอดี จึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาในโลก และให้มีอายุ ๓๐ ปี

พระเป็นเจ้าได้ทรงดำริเห็นว่า การเกิดในโลกนั้นเต็มไปด้วยความลำบากในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ลำพังมนุษย์ย่อมเป็นอยู่ได้ยาก พระเป็นเจ้าจึงได้สร้างวัวขึ้นมา ๑ ตัว เพื่อจะให้ไปอยู่กับมนุษย์ช่วยทำมาหากินและให้วัวมีอายุ ๓๐ ปีเท่ากับคน เจ้าวัวคิดเห็นว่า มันจะต้องเป็นขี้ข้ามนุษย์ตั้ง ๓๐ ปีนั้นนานนัก ครั้นจะปฏิเสธเสียทีเดียวก็เกรงอำนาจพระเป็นเจ้า จึงทูลขอลดอายุของมันลงเสีย ๒๐ ปี มันจะยอมไปอยู่ช่วยมนุษย์เพียง ๑๐ ปี พระเป็นเจ้าก็ทรงพอพระทัยและยินยอม ครั้นวัวลงมาพบกับมนุษย์ ๆ จึงสอบถามเรื่องราวได้ความว่า วัวคืนอายุเสีย ๒๐ ปี ก็คิดว่าวัวมันโง่ โลกนี้น่าอยู่กระไรไม่ชอบอยู่เสียได้ โต้ตอบกับวัวในเรื่องอายุอยู่สักพักหนึ่งวัวคงยืนกรานตามเดิม มนุษย์เลยคิดว่าเมื่อวัวไม่ต้องการตนจะ

ไปเอาอายุวัวมาเพิ่มอายุตน จึงขึ้นไปหาพระเป็นเจ้าทูลขออายุวัว พระเป็นเจ้าห้ามปรามก็ไม่ฟัง คงอ้อนวอนเซ้าซี้ขอ พระเป็นเจ้าก็ประชดให้ว่า
อยากเป็นวัวก็เอาไป
มนุษย์ดีใจ ได้อายุวัวมาเพิ่มอายุตนอีก ๒๐ ปี
ต่อมา พระเป็นเจ้าก็ดำริด้วยกรุณาในมนุษย์อีกว่ามนุษย์ทำมาหากิน เพิ่มพูนทรัพย์สินให้แก่ตนได้แล้วหากไม่มีผู้ช่วยดูแลพิทักษ์รักษา ก็จะเป็นความลำบากแก่มนุษย์อีก ควรจะหาใครดูแลทรัพย์ของมนุษย์ให้ไปอยู่ร่วมกัน จึงทรงสร้างหมาขึ้นอีกตัว ๑ เพื่อให้ไปช่วยดูแลสมบัติของมนุษย์โดยให้มีอายุ ๓๐ ปี หมาคงคิดเหมือนวัวและคืนอายุเสีย ๒๐ ปี ขอเป็นยามให้มนุษย์เพียง ๑๐ ปี ครั้นมนุษย์ทราบเรื่อง ก็ไปขออายุหมามาเพิ่มอายุตนอีก ๒๐ ปี
ต่อมาอีก พระเป็นเจ้าเกรงมนุษย์จะหงอย จึงสร้างลิงขึ้นมาตัวหนึ่ง ให้ไปเป็นผู้ทำความสำราญแก่มนุษย์ ให้มีอายุ ๓๐ ปีเหมือนกัน ลิงมันคิดเช่นเดียวกับวัวและหมา ถวายอายุคืนเสีย ๒๐ ปี ขอเป็นตัวตลกให้มนุษย์ดูเพียง ๑๐ ปี มนุษย์รู้เรื่องเข้าก็ไปขอเอาอายุลิงที่คืนนั้นมาเป็นอายุของตนเพิ่มอีก ๒๐ ปี รวมเป็นอายุ ๙๐ ปี
ตามนิยายเรื่องนี้ระบุชัดว่า อายุของคนนั้นมีเพียง ๓๐ ปี หรือกล่าวให้เข้ากับเรื่องมูลค่าก็ว่าต้นทุนอายุของมนุษย์นั้น ๓๐ ปีเท่านั้น ที่มีอายุมากกว่า ๓๐ ปีนั้นหาใช่อายุของตนไม่ ไปเที่ยวขอเอาของวัวของหมาและของลิงมาเพิ่มเข้า
นิทานเรื่องนี้มีความจริงเพียงไรหรือไม่นั้น ไม่จำเป็นต้องวิจารณ์ แต่เห็นได้ว่าท่านผู้คิดนิยายนี้ได้นำเอาความเป็นไปของคนไปเปรียบเทียบแล้วคิดผูกเป็นนิยาย เป็นเรื่องไม่ปราศจากสาระเลย ลองคิดดูพอจะเห็นได้ว่าคนเรานั้นจะมีความแช่มชื่นเบิกบานเป็นตัวของตัวเองอยู่ก็ราว ๓๐ ปี บางทีไม่ทันถึงด้วยซ้ำก็จับคู่เสียแล้ว เมื่อเข้าคู่แล้ว ก็เกิดนายซึ่งจะเป็นผู้คอยขับคอยขี่คอยต้อน จะมัวแต่หลับแต่นอนหาความสุขสำราญอย่างเมื่อยังไม่มีคู่ไม่ได้แล้ว ยิ่งต่อไป เกิดเจ้าใหม่ขึ้นมาอีก เจ้าใหม่นี้มีอิทธิฤทธิ์สำคัญนักทีเดียว คู่ผัวเมียจะมัวหาความสำเริงสำราญอยู่อย่างแต่ก่อนไม่ได้เป็นเด็ดขาด อำนาจของเจ้าใหม่จะคอยต้อนคอยบังคับ เจ้าใหม่จะไม่ยอมฟังเสียงปฎิเสธว่า  ไม่ได้
หรือ  ไม่มี
หรือจะขอผัดเพี้ยนว่า  รอก่อน
ก็ไม่ยอมทั้งนั้น ชีวิตอย่างนี้ไม่ต่างกับวัวที่เขาเทียมแอกเทียมไถ เขาจับมาเมื่อไรก็ต้องยอมเข้าแอกเข้าไถเมื่อนั้น จะปฏิเสธหรือผัดเพี้ยนไม่ได้เลย ยิ่งกว่านั้นเสียอีกวัวกับแอกและไถนั้นแยกกันต่างหาก ยังมีโอกาสพรากจากกันได้เป็นมื้อเป็นคราว แต่ความเป็นวัวของคนนั้น ต้องอยู่ด้วยกันกับไถกับแอกตลอดชาติ จะกล่าวว่า   “ตนเป็นวัว หัวเป็นไถ



หน้าต่อไป
Free Web Hosting