๕.  บัญญัติค่าของคน
การที่จะกำหนดราคาของคนว่า คนนั้นมีราคาเท่านั้น คนนี้มีราคาเท่านี้ เป็นการยากที่จะประมูลได้เพราะไม่มีเกณฑ์อะไรเป็นเครื่องกำหนดไว้ตายตัว หรือจะพึ่งพาตำราใดก็ไม่เคยได้พบเห็น จะเป็นด้วยว่า เมื่อเกิดมาเป็นคนเช่นเดียวกัน ไฉนจะกำหนดราคาให้ต่างกัน ในเมื่อราคานั้นก็คนนั้นแหละเป็นผู้กำหนด คนจึงมักจะไม่ยอมกำหนดราคาคน แต่คนกำหนดราคาสัตว์อื่น ๆ ให้ เช่น วัว ควาย ช้างม้า เป็นต้น เพราะมันเป็นเดรัจฉาน จะว่ามันราคาเท่านั้นเท่านี้ มันก็ไม่มีปากเสียงจะโต้จะต่อรอง ว่ามันราคาเท่าไรก็เท่านั้น ส่วนคนนั้นโดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะกำหนดราคากันเองย่อมเป็นการยาก หรือถ้าจะให้ต่างคนต่างตีราคาตน ก็เห็นจะยากที่จะมีผู้ตีราคาตนต่ำ หากจะมีการซื้อการขายในระหว่างคนด้วยกัน ก็เห็นจะหาคนคิดขายตนได้ยากอีกเหมือนกัน เพราะคำว่าขายตนเป็นคำที่มักจะมาเป็นคู่ ๆ กับคำที่มีความหมายร้ายแรงเอาการอยู่คำหนึ่ง ซึ่งถ้ากล่าวออกมาแล้ว เป็นน่าขยะแขยงที่สุด ขอประทานโทษที่จะต้องกล่าวคำนั้น ณ ที่นี้ คือคำว่า   “ฉิบหาย
ซึ่งมักจะพูดนำหน้าคำว่า   “ขายตน
เป็นฉิบหายขายตน จะว่าเพราะฉิบหายจึงต้องขายตน หรือเป็นเพราะขายตนจึงได้ฉิบหาย ก็ยุติเป็นฉิบหายขายตนได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงหาผู้ที่จะขายตนได้ยาก
การบัญญัติราคาของคนนั้น ใช่ว่าจะไม่เคยมีการกระทำกันเลยก็หามิได้ ในสมัยก่อนเคยพบว่ามีการขายคนกันอยู่ยุคหนึ่ง แต่เป็นคนอื่นขายคนอื่น หาใช่ตนเองไม่ ที่เรียกกันว่า สมัยค้าทาส คือการรับซื้อคนไปขายเป็นทาส ผู้ยอมตนเป็นสินค้าเล่า ดูเหมือนจะไม่ยินยอมที่จะเป็นสินค้า แต่เป็นด้วยทนความบีบบังคับของผู้มีอิทธิพลเหนือตนไม่ไหว จึงต้องตกไปเป็นสินค้าไป ผู้ที่ต้องตกเป็นสินค้าคือทาสนั้น ฐานะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ ผู้เป็นพ่อค้าเล่า โดยมากก็มักปฏิบัติต่อสินค้าของตนเช่นเดียวกับที่มนุษย์จะพึงปฏิบัติต่อสัตว์ดิรัจฉาน อันเป็นสินค้าของตน หาได้ปฏิบัติต่อกันฉันเป็นคนเช่นเดียวกับตนไม่ ความโหดเหี้ยมของสันดานแห่งผู้เป็นพ่อค้านั้นสุดที่จะกล่าวได้ว่ามีเพียงไร เพราะพวกพ่อค้าทาสนั้นอยู่ในจำพวก   “ตีราคาตนสูง

การตีราคาสูงของตน กระทำให้ความคิดเห็นของมนุษย์ที่ต่างเผ่าต่างผิว มีราคาต่ำตนจะเหยียบย่ำเป็นอย่างไรก็ได้ จะกวาดต้อนไปขายเสียก็ได้ ในยุคนั้นความมีค่าของคนวัดกันด้วยอำนาจ ใครมีอำนาจมาก มีค่ามาก ใครมีอำนาจน้อย มีค่าน้อย ไม่มีอำนาจเลย ก็ไม่มีค่าเลย เอาเป็นทาสเสียก็ได้ แต่ว่าความสุขความสำราญที่พวกพ่อค้าทาสได้รับนั้น เกิดจากราคาของทาสที่ตนขายนั้นเอง ดูก็ประหลาดดีเหมือนกัน ผู้ที่ไม่มีราคากลายเป็นผู้ให้ความสุขความมั่งคั่งแก่ผู้ที่ตีราคาตนสูงได้ บัดนี้ยุคหีนชาตินั้นได้พ้นไปแล้ว ในเมื่อแสงแห่งอารยธรรมได้อุทัยขึ้นในโลก กว่ายุคหีนชาตินั้นจะถูกกวาดล้างไปหมดได้   

ในบางแห่งต้องใช้เลือดเป็นเครื่องล้างความโสโครกเช่นนั้นทีเดียว สังคมแห่งมนุษย์ชาติจึงค่อยสะอาดขึ้นมา
ในประเทศไทยสมัยก่อน มีการบัญญัติค่าของคนไทยไว้เหมือนกัน โดยกำหนดเอาฐานะของคนเป็นเกณฑ์ แต่ก็หาได้กำหนดด้วยเงินตราไม่ กำหนดกันด้วย   นา
ที่เรียกว่า ศักดินา
ดูเหมือนจะมีพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ตราไว้ ยังไม่มีโอกาสค้นในขณะนี้ ขอบรรยายแต่ตามที่จำได้ไปก่อน ในที่นั้นได้แบ่งคนออกเป็นหลายชั้นตั้งแต่สูงสุดถึงต่ำที่สุด ที่ต่ำที่สุดเรียกว่า   “ไพร่สถุล
ค่าของไพร่สถุลกำหนดด้วยนา ๕ ไร่ คือว่าไพร่สถุลถือศักดินา ๕ ไร่ ที่สูงขึ้นไปจะมีชั้นใด ศักดินาเท่าไรก็จำไม่ได้ คงจำได้แม่นยำอยู่ชั้นหนึ่ง คือชั้นเจ้าพระยา ค่าของเจ้าพระยากำหนดด้วยนา ๑๐,๐๐๐ คือ เจ้าพระยาถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ ที่จำได้ ก็เพราะมีสำนวนพูดกันติดมาจนทุกวันนี้ว่า
เจ้าพระยานาหมื่น
การตีราคาด้วยศักดินานั้น ดูเหมือนจะเพิ่งยกเลิกไปไม่ช้านัก และท่านที่มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน  ก็ยังคงมีศักดินาตราอยู่ในสัญญาบัตร การกำหนดราคาไว้ทั้งนี้ มิใช่มีจริงตามที่ระบุนั้น เป็นแต่กำหนดไว้เพื่อตีราคาเป็นเงินตราในเวลาที่มีผู้ละเมิดต่อผู้นั้น อันจะต้องปรับไหมกัน ก็จะได้ปรับได้ตามศักดินา ผู้ละเมิดได้ละเมิดต่อท่านผู้ใด ถือศักดินาเท่าใดก็ปรับไหมมากน้อยตามศักดินา ความประสงค์เห็นจะไม่ถึงกับจะให้คนยึดถือเอาว่า ศักดินามาก เป็นผู้สูง ศักดินาน้อย เป็นผู้ต่ำ แต่ในเรื่องความถือของคนอดไม่ได้ละ ที่จะไม่ยึดเอาว่า มากกว่าเป็นผู้สูง ถึงจะเป็นสมมติลม ๆ แล้ง ๆ หาจริงไม่ได้ ก็ยังถืออยู่ดี จึงเลยกลายเป็นเครื่องระบุบ่งฐานะอันสูงอันต่ำ เป็นราคาค่างวดสำหรับประมูลกันแม้ในเวลาปรกติ บางทีก็ประมูลเสียสูงลิ่วจนเห็นว่าเดินบนแผ่นดินออกจะไม่สมกับศักดินา ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน บ้างก็ลุกลามไปถึงลูกหลาน ซึ่งมีศักดินาในฐานะแห่งบิดา แต่ประมูลราคาตนเสียจนดูเหมือนจะสูงกว่าศักดินาที่บิดามีอยู่ก็มี

ยังมีการตีราคาคนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นประเพณี จะมีมาแต่ครั้งไรคราวไรก็ไม่ทราบ ใครเป็นผู้ริเริ่มเป็นคนแรกก็ไม่ทราบเหมือนกัน ที่ว่านี้คือการตีราคาหญิงสาวในเวลาที่ชายหนุ่มส่งคนมาสู่ขอ พ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็มักจะเรียกราคา บ้างก็ว่าเป็นการชดใช้ค่าที่ได้เลี้ยงดูมา บ้างก็ว่าเป็นค่าที่นอนหมอนมุ้ง บ้างก็ว่าเป็นกองทุนร่วมกัน เรียกว่าสินสอด ที่เป็นที่เป็นทองก็เรียกว่า ทองหมั้น รวมเข้าเป็นสินสอดทองหมั้น ซึ่งชายก็ต้องใช้เงินตราเป็นสินสอด และใช้เงินตราซื้อทองหมั้น จะมากหรือน้อย ก็ต้องว่าแล้วแต่จะเรียกกระมัง วิธีเรียกนั้นเล่าต้องมีชั้นมีเชิง มิใช่เรียกตรง ๆ ว่าเท่านั้นเท่านี้อย่างการ

กำหนดราคาสินค้า แต่ในสมัยก่อนนั้นคงจะสุดเพียง ๑๐๐ ชั่งกระมัง คำว่าร้อยชั่ง จึงมักใช้เป็นคำเรียกหญิงที่ตนรัก เช่น   “แม่ร้อยชั่งฟังคำพี่บ้างก่อน
หรือว่า  สาวน้อยร้อยชั่ง เป็นต้น มาถึงสมัยนี้ราคาร้อยชั่ง คงจะไม่มากเท่าไรนัก แต่ถ้าในสมัยที่ข้าวสารมีราคาเพียงถังละไม่ถึง ๑ บาทแล้ว เงินร้อยชั่งก็มีค่ามากโข
การบัญญัติค่าของคนนั้น หากจะมีได้ในกรณีใดก็ตามที ท่านผู้ตีราคามักจะบัญญัติค่าของหญิงสูงกว่าชาย เป็นเช่นนี้โดยมาก ข้อนี้มีข้อยืนยันได้ คือเรื่องที่พระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ ในตอนที่โปรดประทานสองกุมารแก่ชูชก ได้ทรงตีราคาค่าของพระนางกัณหาไว้สูงกว่าพระชาลี พระชาลีทรงตีราคาไว้เป็นทอง ๑,๐๐๐ แท่ง แต่ทรงตีราคาพระนางกัณหาไว้ว่า ทาสหญิง ๑๐๐ ทาสชาย ๑๐๐ ช้าง ๑๐๐ ม้า ๑๐๐ โค ๑๐๐ และทองอีก ๑๐๐ แท่ง ค่าตัวของพระนางกัณหาสูงกว่าพระชาลีเป็นอันมาก ทั้งนี้ท่านว่า เป็นเพราะพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์ทรงเห็นว่า พระชาลีนั้นเป็นชาย ไม่มีทางจะเสื่อมเสีย ส่วนพระนางกัณหาเป็นหญิงมีทางจะเสื่อมเสียได้ แม้ทรงบัญญัติค่าไว้น้อย ก็จะเป็นเหตุให้ชายที่มีอัธยาศัยต่ำ ๆ ทำลายได้ จึงทรงตีราคาไว้สูง ซึ่งผู้ที่จะถ่ายได้ ก็ต้องเป็นกษัตริย์เท่านั้น และเป็นเพราะราคาของสองกุมารนี่แหละที่เป็นเทวดาดลใจให้ชูชกหลงทาง กลับกาลิงครัฐไม่ถูกไพร่ไปทางสีวีรัฐไม่ใช่เทวดาองค์ใดองค์หนึ่งดอก
ในเรื่องนี้ลองตั้งวงพิจารณากันดู โดยยกเอากรณีแวดล้อม และอัธยาศัยชองชูชก ประกอบกับสามัญสำนึกเป็นหลักวินิจฉัย ก็คงจะได้พบองค์เทวดาที่ดลใจเป็นแน่ ดังนี้
ก่อนอื่น ลองพิจารณาถึงพฤติการณ์ของยาจกและวัณณิพกโดยทั่ว ๆไป ที่เลี้ยงชีพด้วยภิกขาจารนั้น ต้องเที่ยวสัญจรไปบ้านน้อยเมืองใหญ่ เข้าตรอก เข้าซอก เข้าซอย ขอเขาเรื่อยไป
“ยิ่งเที่ยวก็ยิ่งได้ยิ่งไปก็ยิ่งเพลิน”
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องเป็นผู้สันทัดในการสังเกตทาง เพราะอาชีพของตนต้องเนื่องด้วยหนทาง ที่ปรากฏว่า ขอทานหลงทางนั้น ยากนักที่จะมีได้ จะว่าชูชกหลงทางด้วยความหลงลืมของตนเป็นอันว่าไม่ได้ จึงต้องยกให้เป็นอำนาจของเทพเจ้าเข้าดลใจ เพราะว่า เมื่อพูดเสียว่าเทพเจ้าดลใจแล้ว ถึงจะไม่ลืมก็ลืมได้ ถึงจะไม่หลงก็หลงได้ ซึ่งก็ยิ่งเป็นกรณียืนยันอีกว่า ขอทานจะหลงทางโดยสภาพของตนเองมีได้ยากนัก ยิ่งขอทานขนาดชูชกด้วยแล้วต้องเทพเจ้าเข้าดลใจ ถึงจะหลงทางได้ มิฉะนั้นเป็นไม่หลงเด็ดขาด
คราวนี้ ลองมาพิเคราะห์ถึงอัธยาศัยของชูชก ซึ่งมีเด่นอยู่ ๒ ประการ คือ ตระหนี่ และฉลาด อัธยาศัยของชูชกทั้ง ๒ ประการนี้ ปรากฏชัดในท้องเรื่อง เช่นการที่ตาแกมีทองไปฝากเพื่อนไว้ถึง ๑๐๐ กระษาปณ์นั้น ต้องอาศัยความเหนียวแน่นขนาดหนักทีเดียว ในเรื่องฉลาดเล่า ก็ปรากฏเด่นชัดในท้องเรื่อง เช่น ตาแกสามารถช่วยตัวเองให้รอดไปได้ แม้จากหน้าไม้ของนายเจตบุตรนั้น จัดว่าแกหลักแหลมไม่น้อยเลย


ความเป็นคนตระหนี่มาบวกเข้ากับความฉลาด ย่อมมีอุปการะไม่น้อย เพราะเป็นเครื่องสนับสนุนกันได้ดีในการ   “คะเนได้คะเนเสีย
ตามปกติ คนตระหนี่มักพอใจในเรื่องได้ ไม่พอใจในเรื่องเสียเป็นพื้นของจิตใจอยู่แล้ว ยิ่งมีความฉลาดคาดรู้ได้ว่า ท่าไหนจะได้ และท่าไหนจะไม่เสียเข้าผสมด้วยแล้ว จะเป็นอย่างไร ตอบได้ว่า มีแต่ท่าได้ทางเดียว ท่าเสียไม่มีเลย
ลองนำความข้อนี้เข้ามาใช้ในใจของตาชูชกดูบ้างแกจะคิดอย่างไร การที่แกต้องไปขอสองกุมารนั้น ก็เพราะต้องการจะเอาใจเมียสาว แต่เป็นไปได้หรือที่แกจะไม่คิดว่า แต่เดิมมาแกตัวคนเดียว ปากเดียวท้องเดียว ก็พอจะเที่ยวภิกขาจารขอเขามาเลี้ยงตัวได้ ครั้นมาได้เมียเพิ่มปากเพิ่มท้องขึ้นอีกเป็นสองปากสองท้อง ก็ยังพอจะเลี้ยงกันได้ไม่ฝืดเคือง ครั้นขอสองกุมารได้มา ปากท้องเพิ่มอีกเท่าตัว เป็นสี่ปากสี่ท้อง ซึ่งแกต้องหาเลี้ยงคนเดียว แกก็แก่ปานนั้นแล้ว จะไปหาเลี้ยงไหวหรือ จะให้สองกุมารมาช่วยขอทานนั้น เป็นการสุดหวังเพราะเมียสาวของแกคงไม่ยอม ตกลงแกคนเดียวจะต้องหาเลี้ยงอีกสามคน คิดดูโดยสามัญสำนึกก็จะเห็นว่า เป็นภาระที่เต็มทนทีเดียว เพราะการที่มีคนกินมากกว่าคนหาได้นั้นตามธรรมดาก็แย่อยู่แล้ว ไม่ว่าครอบครัวไหน ถ้าคนกินมากกว่าคนหาแล้ว ครอบครัวนั้นที่จะไม่ถึงอัตคัดเป็นไม่มี ชูชกเป็นคนฉลาด แกจะไม่คิดเช่นนี้บ้างละหรือ แกต้องคิดเป็นแน่ ยิ่งได้ฟังพระเวสสันดรทรงตีราคาไว้ด้วย หนทางของแกก็ปรุโปร่งเท่านั้นเอง ความตระหนี่ผสมกับความฉลาดของแกก็เริ่มแผ่อำนาจคาดได้คาดเสีย ในที่สุดก็เห็นแต่ท่าได้ถ่ายเดียว ไม่มีท่าเสียเลย แทนที่แกจะต้องเป็นฝ่ายหาเลี้ยงอีกหลายปากหลายท้อง แกก็จักกลับเป็นคนให้เขาเลี้ยง การเป็นคนหาเลี้ยงเขา กับเป็นคนให้เขาเลี้ยง แกต้องเลือกเอาการเป็นคนให้เขาเลี้ยงเป็นแน่

เมื่อตกลงว่า แกจะเป็นคนให้เขาเลี้ยงแล้ว แกจะพาสองกุมารไปไหน ผู้ใดมีทรัพย์สมบัติพอให้ค่าถ่ายสองกุมารได้ด้วยความเต็มใจ คนอื่นใครเล่าจะมีทรัพย์พอกับค่าตัวสองกุมาร และถึงจะมีพอก็คงไม่เต็มใจจะถ่าย มีคนเดียวเท่านั้นคือพระเจ้ากรุงสญชัย ซึ่งเป็นพระเจ้าปู่ของสองกุมาร พระเจ้ากรุงสญชัยจะทรงเฉยเมยไม่ได้เป็นอันขาด ทั้งนี้โดยอัธยาศัยสามัญ ท่านผู้เป็นปู่ย่าตายายย่อมมีความรักเป็นสองชั้นในผู้เป็นหลาน คือ ความรักลูกที่มีเป็นทุนเดิมนั้นชั้น ๑ แล้ว พอมามีหลานก็ยิ่งรักหนักอีกชั้น ๑ เล่า คือ ความรักลูกแต่เดิมนั้นนำมาเพิ่มให้หลาน และรักหลานแทนลูก สังเกตดูง่าย ๆ พ่อแม่จะตีจะดุลูก ถ้ามีปู่ย่าอยู่ใกล้ ๆ เป็นทำไม่ได้ ต้องถูกขัดขวางทุกทีไป บางทีเด็กฉลาดทำผิดขึ้นควรที่จะเฆี่ยนตี ก็รีบวิ่งไปหาคุณปู่คุณย่าเสีย พ้นโทษไปก็ได้ นี่เป็นเรื่องอัธยาศัยสามัญ ยิ่งในฐานะพระเจ้ากรุงสญชัยเป็นกษัตริย์จำต้องมีผู้สืบสันตติวงศ์ ดำรงราชย์ต่อไป พระราชโอรสเล่าก็ทรงเนรเทศเสียแล้ว หากจะเกิดมีอันเป็นปุบปับไปจะได้ใครสืบราชสมบัติสนองพระองค์ ถ้ามีพระเจ้าหลานมาอยู่ด้วย ก็จะเป็นที่สบพระราชอัธยาศัยเป็นอย่างยิ่ง นี่แหละเทวดาดลใจชูชกให้หลงทางไปสีวีรัฐ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับนางอมิตดา

หน้าต่อไป
Free Web Hosting