นั้นไม่ยากเลย เมื่อมีฐานะร่ำรวยแล้วก็ไปรับนางมาอยู่ด้วยเป็นคุณหญิงคุณนายโก้ไปเสียอีก เรื่องที่จะไม่ชอบเป็นอันไม่มี
ออกนอกเรื่องไปหน่อย เป็นด้วยผ่านมาพบเข้าก็บรรยายให้ชมเป็นพิเศษ กลับเข้าหาเรื่องราคาของคนตอไป ราคาที่แต่งตั้งกันขึ้นนั้น ๆ ยากที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอนได้ จะถือเอาเป็นยุติไม่ได้ คราวนี้ลองมาพิเคราะห์ถึงราคาของชิ้นส่วนต่าง ๆ ในร่างกายคนดูบ้าง เริ่มแต่ผมเป็นต้น
ผมมีราคาเท่าไร เวลายังดำรงชีพอยู่ ค่าเสียหายไปในเรื่องผมนี้ไม่น้อยเลย ตีเสียว่าต้องตัดเดือนละ ๑ ครั้ง ครั้งละ ๕ บาท (พ.ศ.๒๕๑๘) ปีหนึ่งตก ๖๐ บาท ยิ่งกว่านี้ยังมีบริการอื่น ๆ เกี่ยวกับผมไม่น้อย หวี แปลง น้ำมันและอื่น ๆ มีผมก็ลำบากในเรื่องดัดแปลงแต่งตัด ไม่มีผมเล่า จะว่าไม่ลำบากก็ไม่ถูกอีก เพราะได้เคยสดับมาว่าลำบากเพราะมีผม ดีกว่าลำบากเพราะไม่มีผม จะอย่างไรกันแน่ ขอฝากไว้แด่วิจารณญาณของท่านผู้อ่าน จะบรรยายก็ลำบาก จับเรื่องต่อไป ผมคนเรานี้ พอคนสิ้นชีพแล้วจะเอาไปจำหน่ายแก่ใครเขาก็ว่า ผมผีไปเสียแล้ว เทียบกับขนสัตว์แล้ว มันยังมีราคา ยิ่งขนสัตว์บางจำพวกยิ่งมีราคาสูงลิ่ว และไม่เป็นที่รังเกียจของใคร ๆ แม้แต่ขนห่านก็ยังเคยได้รับเกียรติประดับหมวกซึ่งสวมบนหัวคนก็ได้ ถึงกับมีสำนวนพูดกันอยู่สมัยหนึ่งว่า
ห่านตายเพราะขน คนจนเพราะแต่ง
ขนสัตว์บางชนิดทำเป็นผืนผ้ามีราคาแพงป้องกันความหนาวได้ดี แต่ผมคนไม่เป็นเรื่องเลย เคยมีผู้ใช้ผมคนทำเป็นผ้าใช้นุ่งห่มอยู่คนหนึ่งชื่อ อชิต เป็นศาสดาในชุดครูทั้ง ๖ เพราะใช้ผ้าที่ทำด้วยผมคนจึงมีฉายาต่อท้ายชื่อว่า   “อชิต เกสกัมพล
ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า ที่ใช้นั้นเพื่อประกาศความเคร่งในทางปฏิบัติเศร้าหมอง เพราะไม่มีผ้าชนิดไหนเลวเท่าผ้าที่ทำด้วยผมคน    “เวลาร้อน ร้อนด้วย เวลาหนาว หนาวด้วย”
จะยกส่วนอื่น ๆ ขึ้นบรรยายอีก ก็จะยืดยาว ขอสรุปความว่า ราคาของชิ้นส่วนในร่างกายนี้เลวเต็มประดา เนื้อหมู เนื้อโคกิโลกรัมละ ๑๙ บาท ๒๐ บาท ถึง ๒๐ กว่าบาทก็เคยมี แต่เนื้อคนไม่ปรากฏราคา พอคนตายลงแล้ว อะไรก็เป็นผีไปหมด ผมผี ขนผี เล็บผี ฟันผี หนังผี เนื้อผี กระดูกผี ไม่ได้เรื่องสักอย่างเดียว มีผู้คิดหาประโยชน์จากร่างกายคนว่าจะทำอะไรได้บ้าง มีบางอย่างที่จำได้คือ ทำตาปูขนาดเขื่องได้ ๒ ตัว ทำไส้ดินสอเขียนหนังสือได้ ๕ แท่ง ทำสบู่ได้ ๒ หรือ ๓ ก้อนไม่แน่ นอกจากนี้ดูเหมือนจะมีอีกอย่างหนึ่งหรือ ๒ อย่าง รวมกันเข้าแล้ว ดูเหมือนจะมีราคาเพียง ๑๐ สลึง จะเป็น ๑๐ สลึงครั้งไหนก็ลืมเสียอีก ถึงว่าจะเป็น ๑๐ สลึงสมัยก่อน คิดตามเงินสมัยนี้ตีเสียว่า ๑๐ เท่าก็ตก ๒๕ บาท ค่าตัดผมปีเดียวมากกว่า คิดถึงค่าที่ทำนุบำรุงร่างกายนี้มาแล้ว ขาดทุนยับทีเดียว


ในเรื่องราคาคนนี้ เคยมีพระพุทธจริยาเรื่องหนึ่ง นำมาเล่าในที่นี้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ เรื่องนั้นมีดังนี้.-
ในเมืองราชคฤห์มีโสเภณีนางหนึ่ง ชื่อสิริมา สวยงามนักหนา มีราคาคืนละ ๑,๐๐๐ ตำลึง ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบัน ถวายทานในพระศาสนาด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหว ต่อมาได้ล้มเจ็บลงด้วยอาพาธหนักถึงลุกไม่ขึ้น แต่ก็ยังคงบำเพ็ญทานด้วยความเคารพ พระภิกษุรูปหนึ่งไปรับภัตตาหารที่บ้านนาง ได้เห็นนางในเวลาเจ็บหนัก ซึ่งคลายความสดใสลงไปมากแล้ว กระนั้นก็ยังพอทำให้พระภิกษุรูปนั้น ปั่นป่วนรัญจวนใจขนาดหนัก รับภัตตาหารใส่บาตรแล้ว กลับกุฎีทันใด ซุกบาตรเข้าใต้เตียง ไม่ได้ฉัน นอนคลุมโปรง ไม่ยอมพูดจากับใครทั้งนั้น
เย็นวันนั้น นางถึงแก่กรรม พระราชาทรงส่งข่าวถวายพระบรมศาสดาให้ทรงทราบ พระบรมศาสดาถวายพระพรไปว่าให้รักษาศพของนางไว้อย่างดี อย่าเพิ่งทำฌาปนกิจ พระราชาทรงปฏิบัติตาม รักษาศพไว้ถึงวันที่ ๔ ศพเน่า ตามช่องตาช่องหูเป็นต้น มีหมู่หนอนชอนไชเป็นกลุ่ม ๆ ร่างกายทั้งสิ้นแตกปะทุเหมือนชามใส่ข้าวสาลี พระราชาตรัสประกาศทั่วพระนคร ให้ประชาชนพากันมาดูนางสิริมาทั่วกัน เว้นแต่เด็กเฝ้าบ้าน ใครไม่มาถูกปรับ ๘ ตำลึง และได้กราบทูลพระบรมศาสดาให้เสด็จมากับพระภิกษุสงฆ์ พระบรมศาสดาตรัสให้ประกาศแก่พระภิกษุสงฆ์ ว่า   “เราจักไปดูสิริมา”
พระภิกษุทั้งหลายต่างเตรียมตัวโดยเสร็จ เพื่อนพระผู้หนึ่งเข้าไปบอกกับพระภิกษุที่นอนคลุมโปงอยู่นั้นว่า
“พระศาสดาจักเสด็จไปดูนางสิริมา”
พอได้ยินคำว่า   “สิริมา”
เท่านั้น ผลุดลุกขึ้นได้ทันที ซักถามเป็นควันทีเดียว ในที่สุดตกลงจะตามเสด็จ หันไปดูบาตรซิ ข้าวบูดขึ้นรา บาตรเกิดสนิมจับเขลอะ ต้องจัดการชำระล้างขัดกัน พอเสร็จก็ถึงเวลาเสด็จพอดี
ทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ประชุมกัน ณ ที่ไว้ศพนางสิริมาเป็นมหาสันนิบาต พระบรมศาสดาตรัสถามพระเจ้าพิมพิสารว่า
“มหาบพิตร นางนี้ชื่อไร”
ทูลตอบว่า “ชื่อสิริมา”
ตรัสซักว่า  “นี่หรือสิริมา”
ทูลยืนยัน “พระเจ้าค่ะ”
ตรัสต่อไป
“ถ้าเช่นนั้นมหาบพิตรจงประมูลราคาว่าถ้าใครให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ ตำลึงแล้ว รับนางสิริมาไปได้”
ทรงปฏิบัติตาม ไม่มีใครสักคนที่ยื่นหน้าเข้ามาบอกว่า


ข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าเอง”
ทรงให้ลดราคาลงเรื่อย ๆ จนให้เปล่า ๆ เป็นที่สุด ก็ไม่มีใครต้องการ พระองค์จึงตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูเถิด ภิกษุทั้งหลาย หญิงผู้ที่รักของมหาชนครั้งก่อน มีราคาถึงวันละ ๑,๐๐๐ ตำลึง บัดนี้ให้เปล่า ๆ ก็ไม่มีใครรับ”
ต่อจากนั้น ทรงแสดงธรรมสังเวชโนบาย พระภิกษุที่บาตรบูดได้สำเร็จพระโสดาปัตติผลในที่สุด
ที่บรรยายมานี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับบัญญัติค่าของคน เป็นราคาที่คนต่อคนตีราคากัน เป็นเรื่องหายุติได้ยาก จะกำหนดลงเป็นแน่นอนไม่ได้ แต่ถ้าคนตายลงแล้วเป็นไม่มีค่าเลยทีเดียว ที่สุดจนคำว่าคนก็พลอยหมดไปด้วย กลายเป็นผีไป.


ย้อนกลับ      
Free Web Hosting